แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เป็นภริยาของ ล. โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของ ล. ซึ่งเกิดแต่ ข. ภริยาอีกคนหนึ่ง จำเลยเป็นบุตรซึ่งเกิดแต่ ส. ภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ล. จำเลยโอนรับมรดกที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียว ขอให้แบ่งตามส่วน ได้ความว่าโจทก์ที่2 และจำเลยเป็นบุตรที่ ล. บิดารับรองว่าเป็นบุตรส่วนที่พิพาทได้ความว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่ ล. และ ส. มารดาจำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาดังนี้ ล. และ ส. จึงเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาท ที่พิพาทจึงเป็นของ ส. มารดาจำเลยกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งเป็นของ ล. ส่วนของ ล. นี้ตกเป็นสินสมรส ระหว่าง ล. กับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิ ในส่วนที่ เป็นของ ล. กึ่งหนึ่งในฐานะภรรยาที่ ชอบด้วยกฎหมาย อีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ ล. ซึ่งตกได้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยคนละหนึ่งส่วนเท่ากัน(โจทก์ที่ 1 มีสิทธิในที่พิพาท 4 ใน 12 ส่วน โจทก์ที่ 2 มีสิทธิ 1 ใน 12 ส่วน)
จำเลยไปยื่นคำร้องขอรับมรดกที่พิพาท โจทก์ที่ 1ได้ยื่นคำคัดค้าน ในที่สุดโจทก์ที่ 1 และจำเลยตกลงกันได้ โจทก์ที่ 1 ได้ทำบันทึกไว้ต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์ที่ 1 ยอมรับเอาที่พิพาทส่วนหนึ่งทางทิศตะวันตกจะรังวัดแบ่งแยกกันเมื่อจำเลยได้โฉนดแล้ว และโจทก์ที่ 1 ขอถอนคำคัดค้านนั้นเสียดังนี้ บันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงแบ่งปันทรัพย์ มรดก ไม่ใช่การสละมรดก เป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ระงับไป และได้สิทธิใหม่ตามสัญญานี้จำเลยกล่าวมาในฎีกาว่ายินดีปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมดังกล่าว ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งตามสัญญาดังกล่าวนั้นได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาคดี 2 สำนวนนี้เข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยานายเลี่ยมผู้ตาย โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรผู้ตายเกิดจากนางเข็บภริยานายเลี่ยม จำเลยเป็นบุตรที่เกิดจากนางเสถียรซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายเลี่ยม ไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเลี่ยม นายเลี่ยมตายมีที่ดินมรดกแปลงหนึ่งราคา 50,000 บาท จำเลยโอนรับมรดกดังกล่าวแต่ผู้เดียวโดยจำเลยหลอกลวงโจทก์ให้พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือไม่คัดค้าน ขอให้พิพากษาว่าจำเลยไม่มีสิทธิรับมรดกดังกล่าวของนายเลี่ยม ถ้าหากมีก็เพียงหนึ่งในหกส่วน ส่วนโจทก์มีสี่ในหกส่วน ส่วนที่เหลืออีกหนึ่งส่วน เป็นของโจทก์ที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 2 ฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเลี่ยม โจทก์ที่ 2 และจำเลยเป็นทายาทของนายเลี่ยม จึงขอให้จำเลยแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ที่ 2 กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ภริยา และโจทก์ที่ 2 มิใช่บุตรของนายเลี่ยม แต่จำเลยเป็นทายาทคนเดียวของนายเลี่ยมโดยนายเลี่ยมให้การรับรองว่าเป็นบุตร โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมกับจำเลยยอมรับเอาที่พิพาทบางส่วน และจะแบ่งได้ก็ต่อเมื่อได้โฉนดมาเสียก่อนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างเป็นทายาทของนายเลี่ยม ที่พิพาทเป็นของผู้ตายครึ่งหนึ่งและเป็นของมารดาผู้ตายครึ่งหนึ่งที่พิพาทส่วนของผู้ตายตกเป็นสินสมรสของโจทก์ครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของผู้ตาย สัญญาประนีประนอมที่โจทก์ที่ 1 ทำไว้กับจำเลยเป็นการสละมรดกบางส่วนจึงไม่มีผล พิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิในที่พิพาท 4 ใน 12 ส่วน โจทก์ที่ 2 และ จำเลยคนละ 1 ใน 12 ส่วน
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของนายเลี่ยมผู้ตายแยกเป็นสินสมรสตกได้แก่โจทก์ที่ 1 กึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของผู้ตาย การสละมรดกไม่มีผล พิพากษาแก้ให้โจทก์ที่ 1 ได้ 4 ใน 6 ส่วนโจทก์ที่ 2 และจำเลยมีสิทธิคนละ 1 ใน 6 ส่วน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาของนายเลี่ยมผู้ตายโจทก์ที่ 2 และจำเลยเป็นบุตรที่นายเลี่ยมรับรองว่าเป็นบุตร ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินระหว่างนายเลี่ยมกับนางเสถียรมารดาจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน (อยู่ในระหว่างขอออกโฉนด) ฉะนั้น ที่พิพาทจึงเป็นของนางเสถียรมารดาจำเลยกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งเป็นของนายเลี่ยมซึ่งตกเป็นสินสมรสระหว่างนายเลี่ยมกับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิในส่วนที่เป็นของนายเลี่ยมกึ่งหนึ่งในฐานะภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย อีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของนายเลี่ยมซึ่งตกได้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยคนละหนึ่งส่วน กล่าวคือ โจทก์ที่ 1มีสิทธิ 4 ใน 12 ส่วน โจทก์ที่ 2 มีสิทธิ 1 ใน 12 ส่วน ดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น
ปัญหาสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเหตุที่จะได้ทำเอกสารฉบับนี้ขึ้นเพราะจำเลยไปยื่นเรื่องราวขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำคัดค้าน ในที่สุดโจทก์ที่ 1 และจำเลยทำความตกลงกันได้ จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งมีข้อความว่า “นางตั้งผู้คัดค้านขอแบ่งที่ดินแปลงนี้ทางด้านทิศตะวันตกกว้างไปทางทิศตะวันออก ผู้ขอและผู้คัดค้านจะได้นำชี้เองในวันแบ่ง ส่วนความยาวทางเหนือไปทางใต้ยาว 30 เมตร ผู้ขอและผู้คัดค้านก็ได้ยินยอมตกลงกันแล้วที่จะแบ่งกัน และจะแบ่งปันกัน เมื่อได้รับโฉนดแล้ว” และมีข้อความตอนท้ายว่า “ผู้คัดค้านก็ขอถอนคำคัดค้านเสียตั้งแต่วันนี้” แล้วลงลายมือชื่อจำเลยและพิมพ์ลายนิ้วมือโจทก์ที่ 1 ต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน ข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.6 ไม่ใช่เป็นการสละมรดก แต่เป็นการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยคู่สัญญามทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน และมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่บังคับได้ตามมาตรา 850, 1750 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผลของสัญญาดังกล่าวทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ในฐานะภรรยาและทายาทของนายเลี่ยมผู้ตายระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์ที่ 1 ได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามที่ได้แสดงไว้ในสัญญานั้น ซึ่งปรากฏว่าสิทธิที่โจทก์ที่ 1 ได้รับเป็นเพียงส่วนแบ่งของทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกร้องมาเท่านั้น ทั้งจำเลยกล่าวมาในฎีกาว่าจำเลยยังยินดีปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิพากษาให้โจทก์ที่ 1มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งตามสัญญาดังกล่าวนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.6 ส่วนโจทก์ที่ 2ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง