คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 557/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขนถ่ายสินค้ากระดาษของโจทก์และของจำเลยที่ 3 จากเรือ อ. ลงเรือ ฉ. โดยประมาทเลินเล่อทำให้สินค้ากระดาษของโจทก์บางส่วนถูกสับเปลี่ยนและส่งมอบไปให้แก่จำเลยที่ 3 โดยโจทก์ได้รับสินค้าของจำเลยที่ 3 มาแทน เมื่อหักกลบแล้วจำเลยที่ 3 รับสินค้ากระดาษของโจทก์เกินไปจำนวนหนึ่ง ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะเจ้าของเรือ ผู้รับจ้างขนส่ง และนายจ้างหรือตัวการ จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้ากระดาษของโจทก์ และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบสินค้ากระดาษของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ร่วมกันชำระราคาสินค้าที่จำเลยที่ 3 รับเกินไปแก่โจทก์ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดโจทก์ฐานละเมิด ให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ฐานผิดสัญญาประกันภัย และให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ฐานรับมอบทรัพย์ของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิของเจ้าของทรัพย์ในการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 มูลค่าแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ที่แบ่งแยกออกจากกันได้
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 แต่ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องดังกล่าวไว้ แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้เรื่องอายุความโดยจำเลยที่ 3 ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อคดีของจำเลยที่ 3 ไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แม้ศาลชั้นต้นจะหยิบยกประโยชน์แห่งอายุความให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วยก็เป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องอายุความและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 แล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2534 โจทก์สั่งซื้อกระดาษพิมพ์หนังสือพิมพ์จากบริษัทไดอี เปเปอร์ส (ยู เอส เอ) คอร์ป ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นกระดาษความหนา 48.8 แกรม กว้าง 54 ถึง 55 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางม้วน 40 ถึง 45 นิ้ว จำนวน 1,538 ม้วน น้ำหนัก 1,304.044 เมตริกตัน โดยผู้ขายตกลงว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือเมืองฮุสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มายังท่าเรือกรุงเทพมหานคร โดยเรือชื่อ “อริสโตเติล” ของจำเลยที่ 2 เมื่อสินค้าบรรทุกลงเรือเรียบร้อยแล้วและผู้ขายได้รับชำระค่าสินค้าผ่านวิธีการทางธนาคารแล้ว จึงได้โอนใบตราส่งมาให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิตามใบตราส่งจากผู้ขาย ในขณะเดียวกันนั้นเรืออริสโตเติลก็ได้บรรทุกสินค้าประเภทกระดาษพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่จำเลยที่ 3 สั่งซื้อมาด้วยโดยมีขนาดความหนาความกว้างและเส้นผ่าศูนย์กลางม้วนเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์จำนวน 1,091 ม้วน คิดเป็นน้ำหนัก 915.988 เมตริกตัน และขนาดความหนา 48.8 แกรม ความกว้าง 27 ถึง 27นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางม้วน 10 ถึง 42 นิ้ว อีกจำนวน 303 ม้วน คิดเป็นน้ำหนัก 119.615 เมตริกตัน รวมจำนวนกระดาษทั้งสองชนิด 1,394 ม้วน ซึ่งเป็นกระดาษชนิดเดียวกันกับโจทก์ ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2534 เรืออริสโตเติลได้เดินทางมาถึงประเทศไทยที่เกาะสีชัง จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่จัดส่งสินค้ามอบให้แก่โจทก์ที่ท่าเรือกรุงเทพมหานคร ได้ทำการขนถ่ายสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 3 ลงเรือฉลอมเพื่อนำส่งไปยังโกดังของโจทก์และของจำเลยที่ 3 แต่ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในการตรวจสอบและควบคุมการขนถ่ายสินค้าให้ดี ทำให้สินค้าของโจทก์บางส่วนถูกสับเปลี่ยนและถูกส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 3 และโจทก์ได้รับสินค้าของจำเลยที่ 3 มาแทน โดยสินค้าของโจทก์สูญหายไป 301 ม้วน น้ำหนักต่อม้วนโดยประมาท 897.882 กิโลกรัม คิดเป็นน้ำหนักรวม 255,212.783 กิโลกรัม แต่กลับได้รับสินค้าขนาดความกว้าง 27 ถึง 27นิ้ว ซึ่งเป็นสินค้าของจำเลยที่ 3 มาแทน จำนวน 303 ม้วน น้ำหนักต่อม้วนประมาณ 394.768 กิโลกรัม คิดเป็นน้ำหนักรวม 119,615 กิโลกรัม สินค้ากระดาษทั้งสองชนิดแม้จะมีน้ำหนักต่อม้วนแตกต่างกันมาก แต่มีราคาต่อหน่วยเท่ากัน คือราคา 1 เมตริกตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม ราคา 495 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทย 12,716.55 บาท เมื่อนำสินค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 3 รับสับเปลี่ยนกันไปมาหักกลบกันแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้รับสินค้าเกินไป 135,597.783 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 1,724,364 บาท ซึ่งในขั้นต้นโจทก์เข้าใจว่าผู้ขายส่งสินค้ามาผิด แต่เมื่อตรวจสอบแล้วจึงทราบว่าผู้ขายส่งสินค้ามาถูกต้อง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปส่งมอบผิดให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะเจ้าของเรือผู้รับจ้างขนส่งและนายจ้างหรือตัวการที่ใช้จ้างวานให้ลูกจ้างหรือตัวแทนกระทำตามคำสั่งในการขนถ่ายสินค้า และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับสินค้าของโจทก์ไปโดยไม่มีสิทธิกับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,724,364 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลและไม่เคยกระทำการอย่างใดกับโจทก์หรือกับจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 เพียงแต่ประกอบกิจการเป็นตัวแทนของสายการเดินเรือหรือตัวแทนเรือ มีหน้าที่ติดต่อและรายงานเรือเข้า – ออก ต่อกรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กองตรวจคนเข้าเมือง และการท่าเรือแห่งประเทศไทย แทนเจ้าของเรือหรือนายเรือ หาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับจ้างขนส่งจากผู้ใดหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ทราบ และจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้าหรือว่าจ้างเรือลำเลียงไปส่งมอบสินค้าแต่อย่างใดเพราะผู้รับเหมาขนส่งเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งสิ้นไม่ใช่จำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ฝ่ายเรือบรรทุกสินค้าได้ทำการขนถ่ายและส่งมอบสินค้าถูกต้องตามหลักฐานในการขนส่งสินค้าทางทะเลแล้วทุกประการ แต่โจทก์ได้รับสินค้าเกินไป 2 ม้วน เมื่อทางสายการเดินเรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ติดต่อเรียกคืนจากโจทก์ โจทก์ไม่ยอมคืนให้และนำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 1 เคยเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะสินค้าชำรุดหรือฉีกขาดให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้ชำระให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 77,985.03 บาท ซึ่งโจทก์พอใจโดยไม่ได้สงวนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น สิทธิของโจทก์จึงระงับสิ้นไปแล้ว ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะขณะยื่นฟ้องผู้ลงชื่อมอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจไม่มีอำนาจทำการแทนโจทก์ และตราที่ประทับไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ จำเลยที่ 3 สั่งซื้อสินค้ากระดาษพิมพ์หนังสือพิมพ์มาจริงตามฟ้องแต่สั่งซื้อต่างบริษัทจากที่โจทก์สั่งซื้อ การบรรจุหีบห่อสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 3 มีเครื่องหมายระบุไว้แตกต่างกัน สามารถตรวจสอบได้ง่าย และขณะขนถ่ายสินค้าไม่ได้มีการสับเปลี่ยนสินค้ากันแต่อย่างใด เพราะตัวแทนของโจทก์และของจำเลยที่ 3 ต่างฝ่ายต่างตรวจสอบและตรวจนับร่วมกับตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามเครื่องหมายที่ระบุไว้ที่หีบห่อ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับมอบสินค้าแล้วปรากฏว่าสินค้าของจำเลยที่ 3 หายไป 2 ม้วน จำเลยที่ 3 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบ จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าสินค้าของจำเลยที่ 3 พลัดหลงไปในเรือลำเลียงที่ขนถ่ายสินค้าไปส่งมอบให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงได้ติดตามทวงถามคืนจากโจทก์ แต่โจทก์บ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืนให้และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะจำเลยที่ 3 ไม่สามารถเข้าใจว่าสินค้าของโจทก์มีราคาต่อหน่วยเป็นเท่าไร ค่าเสียหายที่โจทก์คิดคำนวณมาอย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ได้รับประกันการขนส่งสินค้ากระดาษพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่โจทก์สั่งซื้อจำนวน 1,538 ม้วน ต่อมาโจทก์ได้รับมอบสินค้าครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 4 กระดาษที่โจทก์สั่งซื้อมาจะมีความหนา ความกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลางม้วนจริงตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 4 ไม่ทราบ เพราะใบตราส่งและใบกำกับสินค้าไม่ได้ระบุไว้ ดังนั้น การที่โจทก์รับมอบสินค้าผิดขนาด จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งโจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งขณะรับมอบสินค้าผิดขนาดและน้ำหนักทั้ง ๆ ที่โจทก์เห็นอยู่แล้ว ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง คดีนี้โจทก์เคยเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการขนส่งสินค้าตามฟ้องที่ชำรุดเสียหายจำนวน 77,984.03 บาทแล้ว แต่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่อ้างว่าได้รับสินค้าผิดขนาดหรือขาดน้ำหนักจากจำเลยที่ 4 แต่ประการใด ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามที่เรียกร้องและโจทก์ได้ทำหนังสือปลดหนี้และสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์ได้รับมอบสินค้าตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 20 กันยายน 2534 แต่เพิ่งนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ขนส่งให้รับผิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2535 เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์แล้วจึงขาดอายุความ และทำให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องเสื่อมสิทธิที่จะไปไล่เบี้ยเอาคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้อีก ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนชี้สองสถานโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 1,724,326 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 กันยายน 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 4 คงให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ได้รับสินค้ากระดาษขนาดกว้าง 54 ถึง 55 นิ้ว จำนวน 301 ม้วน สับเปลี่ยนกับสินค้ากระดาษของจำเลยที่ 3 ขนาดกว้าง 27 ถึง 27นิ้ว จำนวน 303 ม้วน ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้สินค้ากระดาษของโจทก์และจำเลยที่ 3 จะสั่งซื้อจากบริษัทต่างรายกัน แต่สินค้ากระดาษของโจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นสินค้าชนิดเดียวกันสินค้ากระดาษของจำเลยที่ 3 บางส่วนก็มีขนาดเดียวกันกับสินค้ากระดาษของโจทก์ เครื่องหมายหีบห่อก็เหมือนกันมีลักษณะเป็นเครื่องหมายจากโรงงานผู้ผลิตไม่มีลักษณะชี้เฉพาะว่าเป็นเครื่องหมายหีบห่อของบริษัทผู้ขายรายใด ทั้งสินค้ากระดาษดังกล่าวบรรทุกมาในเรือลำเดียวกันและมีบางส่วนวางปะปนกันในระวางที่ 4 และที่ 5 ในการขนถ่ายสินค้ากระดาษดังกล่าวจากเรืออริสโตเติลลงเรือฉลอมจึงอาจสับสนและสับเปลี่ยนกันได้ การที่บริษัทจ้าวสมุทรขนส่ง จำกัด ส่งสินค้ากระดาษเกินให้โจทก์จำนวน 2 ม้วน และส่งให้จำเลยที่ 3 ขาดจำนวน 2 ม้วน และมีการโต้เถียงกันเกี่ยวกับจำนวนสินค้ากระดาษที่ขนถ่ายลงเรือฉลอมชื่อเรือโอเค 11 โดยทางบริษัทเอส จี เอส (ประเทศไทย) จำกัด นับได้จำนวน 306 ม้วน แต่ผู้ควบคุมเรือฉลอมนับได้จำนวน 300 ม้วน แสดงให้เห็นว่าในการขนถ่ายสินค้ารายพิพาทมีความสับสนและอาจมีการสับเปลี่ยนสินค้ากันได้ ทั้งการที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้บริษัทเบลล์อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์เวอร์เยอร์ส แอนด์ แอ็ด จัสเตอร์ส จำกัด ตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าโจทก์ เมื่อสินค้ามาถึงโกดังของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์พบว่าสินค้ากระดาษของโจทก์ผิดขนาดแล้วบริษัทเบลล์อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์เวอร์เยอร์ส แอนด์ แอ็ด จัสเตอร์ จำกัด ได้ส่งนายวิชาญ พรหมจอม มาตรวจสอบสินค้ากระดาษร่วมกับนายสมชาย กิจประเสริฐศักดิ์ รองหัวหน้าโกดังของโจทก์ นายวิชาญรายงานว่าสินค้าไม่ตรงตามใบกำกับสินค้าจำนวน 303 ม้วน ตามรายงานการตรวจสอบสินค้าและภาพถ่าย และนายสมชายได้ทำบัญชีแสดงรายการกระดาษมีกระดาษทั้งหมด 1,540 ม้วน เป็นม้วนขนาด 54 ถึง 55 นิ้ว จำนวน 1,237 ม้วน ขนาด 27 ถึง 27นิ้ว จำนวน 303 ม้วน ตามบัญชีแสดงรายการกระดาษเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งมีรายการกระดาษแต่ละม้วนทั้งขนาดและน้ำหนักโดยละเอียด น่าเชื่อว่าตรวจสอบกับม้วนกระดาษจริง เมื่อพิจารณาภาพถ่าย จ.12 ประกอบแล้ว เห็นว่า มีม้วนกระดาษขนาดเล็กหรือขนาด 27 ถึง 27นิ้ว จำนวนหลายม้วนซึ่งมากกว่าจำนวน 2 ม้วน ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าส่งเกินมาที่โจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่ามีการขนถ่ายและส่งมอบสินค้ากระดาษม้วนเล็กหรือขนาด 27 ถึง 27นิ้ว จำนวน 303 ม้วน ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 มาให้โจทก์ และส่งมอบสินค้ากระดาษม้วนใหญ่หรือขนาด 54 ถึง 55 นิ้ว จำนวน 301 ม้วน ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 3 จริง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขนถ่ายสินค้ากระดาษของโจทก์และของจำเลยที่ 3 จากเรืออริสโตเติลลงเรือฉลอมโดยประมาทเลินเล่อทำให้สินค้ากระดาษของโจทก์บางส่วนถูกสับเปลี่ยนและส่งมอบไปให้แก่จำเลยที่ 3 โดยโจทก์ได้รับสินค้ากระดาษของจำเลยที่ 3 มาแทน เมื่อหักกลบกันแล้วจำเลยที่ 3 รับสินค้ากระดาษของโจทก์เกินไปจำนวน 135,597.783 กิโลกรัม เป็นเงิน 1,724,364 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะเจ้าของเรือผู้รับจ้างขนส่ง และนายจ้างหรือตัวการ จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้ากระดาษของโจทก์ และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบสินค้ากระดาษของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ร่วมกันชำระราคาสินค้าที่จำเลยที่ 3 รับเกินไปแก่โจทก์ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด ให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ฐานผิดสัญญาประกันภัย และให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ฐานรับมอบทรัพย์ของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิของเจ้าของทรัพย์ในการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันได้ หาใช่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ แต่จำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้เรื่องอายุความโดยจำเลยที่ 3 ด้วยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) เมื่อคดีของจำเลยที่ 3 ไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แม้ศาลชั้นต้นจะได้หยิบยกประโยชน์แห่งอายุความให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องอายุความและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 แล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้

Share