คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินและบ้านพิพาทเดิมโจทก์เป็นผู้ซื้อจาก บ. และจำนองไว้กับธนาคาร แม้ได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยแต่โจทก์และครอบครัวยังคงอยู่อาศัยในที่พิพาท และเป็นผู้ชำระหนี้จำนองเป็นรายเดือนตลอดมา สาเหตุที่โจทก์ต้องทำนิติกรรมพิพาท เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์ไปชำระหนี้อีกทั้งสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทมีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขพิเศษให้โจทก์มีสิทธิซื้อคืนได้ตลอดเวลาแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีความประสงค์ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ที่ซื้อโดยแท้จริง นิติกรรมซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยมิได้ซื้อขายกันจริง จึงไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมายนิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะ กรณีที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยในราคาที่ดินและบ้านพิพาทตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้อง คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้นำสืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยไปได้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยใหม่

ย่อยาว

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 65953 และ 69245 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกสองชั้นเลขที่ 435 โดยโจทก์ซื้อมาจากบริษัทอินเตอร์คอนติเนนตัลเฮ้าส์ซิ่งประเทศไทย จำกัด และบริษัทสยามเฮ้าส์ซิ่ง จำกัดแล้วโจทก์ได้นำที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นเงิน 150,736.54 บาท นำเงินที่ได้จากการจำนองดังกล่าวไปชำระหนี้ค่าที่ดินและบ้านให้แก่บริษัทอินเตอร์คอนติเนนตัลเฮ้าส์ซิ่งประเทศไทย จำกัด และบริษัทสยามเฮ้าส์ซิ่ง จำกัด ผู้ขายและโจทก์ได้ผ่อนชำระการจำนองให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เดือนละ 1,562.91 บาท ตลอดมาเมื่อประมาณปลายปี 2523 กิจการของโจทก์ขาดทุน โจทก์เป็นหนี้เจ้าหนี้หลายรายเป็นเงินจำนวนมาก ไม่สามารถจะหาเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ได้ โจทก์จึงขอร้องให้จำเลยจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้ในรูปนิติกรรมการซื้อขาย เพื่อเป็นการอำพรางความจริงต่อเจ้าหนี้ของโจทก์ไว้เป็นการชั่วคราว โจทก์จำเลยจึงได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของโจทก์ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ตามข้อสัญญาหรือข้อตกลงที่จำเลยตกลงกับโจทก์ แต่จำเลยได้ไปทำการชำระหนี้จำนองที่ค้างอยู่ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้รับจำนองและรับโฉนดไว้ในความครอบครองของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทำการไถ่ถอนจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 65953 และ 69245 โดยนำเงินจากโจทก์จำนวน 36,823.86บาท ไปชำระหนี้จำนอง และรับโฉนดที่ดินจากผู้รับจำนองนำไปจดทะเบียน ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วยการปลอดจำนองและส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์เป็นผู้ถือ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และหากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนให้โจทก์ได้ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 800,000บาท หากจำเลยไม่ชำระเงินจำนวน 800,000 บาท แทนการโอนที่ดินให้โจทก์ในทันทีแล้ว ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยให้การว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 65953 และ 69245 จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยนิติกรรมซื้อขายกับโจทก์และจำเลยได้ชำระราคาให้โจทก์ครบถ้วนในวันจดทะเบียนไม่ใช่นิติกรรมอำพรางหรือเจตนาลวงหรือกลฉ้อฉล ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า บ้านเลขที่ 435 ซึ่งปลูกอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 65953 และ 69245 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยซื้อมาจากจำเลยโจทก์ได้ให้จำเลยและบริวารอยู่ในบ้านพิพาท โดยจำเลยยอมรับภาระในการชำระหนี้จำนองบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด แทนโจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการอยู่อาศัยในอัตราเดือนละ 1,562.91 บาทต่อมาจำเลยได้กล่าวอ้างว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นเจตนาลวง และได้ฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 435 ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 9,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่เดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านพิพาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงของบ้านและที่ดินโฉนดตามที่โจทก์ฟ้อง การทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเป็นการสมรู้ร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลยแสดงเจตนาลวงต่อบุคคลที่สาม เพื่อให้บุคคลที่สามเข้าใจหรือทราบว่าที่ดินและบ้านพิพาทในคดีนี้ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลย นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะขอให้ยกฟ้อง
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณารวมกันโดยเรียกโจทก์ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนหลังว่า โจทก์ และให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 17167/2529 (สำนวนแรก) ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11299/2531 (สำนวนหลัง) พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านเลขที่ 435 และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่เดือนที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยรู้จักคุ้นเคยมีความสัมพันธ์สนิทสนมกันมาเป็นเวลานาน ที่ดินและบ้านพิพาทเดิมโจทก์เป็นผู้ซื้อและจำนองไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด แม้เมื่อได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยแล้วโจทก์และครอบครัวยังคงอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาท และเป็นผู้ชำระหนี้จำนองเป็นรายเดือนตลอดมาจนเกิดกรณีพิพาท ทั้งได้ความชัดว่าโจทก์และภรรยามีภาระหนี้สินอันเกิดจากการซื้อขายหุ้นตั้งแต่ก่อนจะมีการจดทะเบียนนิติกรรมพิพาทแล้วจริง สาเหตุที่โจทก์อ้างว่าต้องทำนิติกรรมพิพาทเพื่อป้องกันถูกยึดทรัพย์ไปชำระหนี้นั้นจึงมีเค้ามูลความจริงประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลย ที่รับฟังเป็นยุติได้ข้างต้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่ามีความเชื่อถือไว้วางใจจำเลยจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผล นอกจากนี้แล้วการผ่อนชำระหนี้จำนองเป็นรายเดือนนั้นจำเลยอ้างว่าให้โจทก์เป็นผู้ชำระเพื่อเป็นค่าตอบแทนที่ได้อยู่อาศัยและการซื้อที่ดินและบ้านพิพาทโดยมีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขพิเศษให้โจทก์มีสิทธิซื้อคืนได้ตลอดเวลา ชี้ให้เห็นชัดว่าจำเลยมิได้มีความประสงค์ได้กรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ที่ซื้อโดยแท้จริง และยังเป็นพิรุธขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อมาว่าจำเลยทำการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนดโดยมิได้ให้เหตุผล ในส่วนค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องชำระหนี้จำนองเป็นรายเดือนนั้น จำเลยจะกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อไปอย่างไร ทั้งเหตุผลที่จำเลยอ้างว่าเพื่อป้องกันโจทก์มิให้ใช้หนังสือมอบอำนาจไปโอนที่ดินและบ้านพิพาทนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ผู้รับจำนองซึ่งเป็นสถาบันการเงินและไม่มีส่วนเกี่ยวพันเป็นพิเศษกับโจทก์จะยินยอมให้ความร่วมมือให้โจทก์กระทำถึงขนาดนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงแสดงออกชัดถึงความรีบร้อนเป็นพิรุธอย่างยิ่ง คดีจึงรับฟังได้ว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างโจทก์จำเลยโดยมิได้ซื้อขายกันจริงดังที่โจทก์นำสืบ นิติกรรมพิพาทตกเป็นโมฆะ กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทจึงยังคงเป็นของโจทก์จำเลยไม่มีสิทธิขับไล่หรือเรียกค่าเสียหายจากโจทก์
ปัญหาต่อมามีว่า ราคาที่ดินและบ้านพิพาทที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยไว้ แต่โจทก์จำเลยได้นำสืบพยานจนสิ้นกระแสความทั้งสองฝ่ายแล้วและพอเพียงที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน ซึ่งปัญหานี้โจทก์นำสืบว่าที่ดินและบ้านพิพาทราคาปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบและที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องเพียง 800,000 บาท นั้นจึงเห็นควรให้เท่าที่ขอ
พิพากษากลับว่า สำนวนคดีสำนวนแรกให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 65953 และ 69245 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ได้ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย สำหรับสำนวนหลังให้ยกฟ้องจำเลย

Share