คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5562/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามมาตรา 1080 และมาตรา 1040แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญจะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกหรือชักนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้นส่วน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมนำมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วยโดยอนุโลมสำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดที่จะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจาก ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้นอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยลำพัง ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นตามที่มาตรา 1091 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะเรื่องการโอนหุ้นเท่านั้นเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิอำนาจหน้าที่และความรับผิดจำกัด และเนื่องจากมีสิทธิอำนาจหน้าที่ และความรับผิดจำกัดนี้เองคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงมิใช่สาระสำคัญ และการเป็นหุ้นส่วนจำพวกดังกล่าวไม่เป็นการเฉพาะตัว ทั้งการโอนหุ้นดังกล่าวก็หาใช่การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิม แห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1032 ไม่ เมื่อการโอนหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1091 โดยปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นก็อาจโอนได้ คำเบิกความของ ว. ที่ว่า จำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ไม่อาจโอนหุ้นได้โดยขาดความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นย่อมเป็นเพียงความเห็นของพยาน จึงหาจำต้องหยิบยกคำเบิกความของ ว. มาวินิจฉัยให้โดยเฉพาะอีกไม่เพราะที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนโดยปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นก็โอนได้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่เห็นด้วยกับคำเบิกความของ ว. ดังกล่าวอยู่ในตัวแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องดำเนินการขอจดทะเบียน แก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ที่ 1 ลงทุนด้วยเงินเป็นหุ้นจำนวน 2,500,000 บาท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2532 โจทก์ที่ 1ได้โอนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 500,000 บาทและโอนให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 1,500,000 บาท พร้อมทั้งมีหนังสือจดแจ้งการโอนหุ้นไปยังจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อของโจทก์ที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นใหม่ แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมดำเนินการดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมรายชื่อผู้ถือหุ้นและผู้เป็นหุ้นส่วนใหม่โดยให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1และเป็นหุ้นส่วนประเภทความจำกัดความรับผิดลงทุนด้วยเงินจำนวน 500,000 บาท และให้โจทก์ที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดลงทุนด้วยเงิน 1,500,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 1ยังคงเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดและมีเงินลงทุนเหลืออยู่จำนวน 500,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 มิได้โอนหุ้นส่วนให้แก่โจทก์ที่ 2 หรือที่ 3 โจทก์ทั้งสามไม่เคยมีหนังสือจดแจ้งการโอนหุ้นแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจเข้าเป็นผู้ถือหุ้นของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ไม่ว่าในฐานะใด การจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เป็นหุ้นส่วนใหม่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสามจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการหาได้ไม่เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำได้ จำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมรายชื่อผู้ถือหุ้นใหม่ โดยให้โจทก์ที่ 1และที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาท และ 1,500,000 บาทตามลำดับ โดยโจทก์ที่ 1 เหลือเงินลงทุน 500,000 บาทหากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ถือหุ้นจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาท และ 1,500,000 บาทตามลำดับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าการโอนหุ้นดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา 1080และมาตรา 1040 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญจะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกหรือชักนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้นส่วน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมนำมากับห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วยโดยอนุโลม สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดที่จะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้นอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยลำพัง ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นตามที่มาตรา 1091 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะเรื่องการโอนหุ้นเท่านั้น เพราะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิอำนาจหน้าที่ และความรับผิดจำกัด และเนื่องจากมีสิทธิอำนาจหน้าที่และความรับผิดจำกัดนี้เอง คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงมิใช่สาระสำคัญและการเป็นหุ้นส่วน จำพวกดังกล่าวไม่เป็นการเฉพาะตัวดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดโจทก์ที่ 1 จึงอาจโอนหุ้นเองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ทั้งการโอนหุ้นดังกล่าวก็หาใช่การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1032 ไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาคำเบิกความของนายวิโรจน์ นฤวรวงศ์เจ้าหน้าที่กองทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเฉพาะบางส่วนขึ้นวินิจฉัยไม่ได้หยิบยกในส่วนที่นายวิโรจน์เบิกความซึ่งแสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 แต่เพียงคนเดียวไม่สามารถดำเนินการได้หากขาดความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นเป็นการไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อการโอนหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1091 โดยปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นก็อาจโอนได้ดังวินิจฉัยมาแล้ว คำเบิกความของนายวิโรจน์เป็นเพียงความเห็นของพยาน จึงหาจำต้องหยิบยกคำเบิกความของนายวิโรจน์ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกามาวินิจฉัยให้โดยเฉพาะอีกไม่ เพราะที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนโดยปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นก็โอนได้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่เห็นด้วยกับคำเบิกความของนายวิโรจน์ดังกล่าวอยู่ในตัวแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2ที่จะต้องดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้อง
พิพากษายืน

Share