คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 556/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่ความพิพาทกันในกรรมสิทธิทรัพย์พิพาทซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาเด็ดขาดไปแล้วว่า ทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนและเป็นฝ่ายแพ้คดีกลับมาฟ้องจำเลยในคดีนี้ขึ้นใหม่อ้างว่าคำพิพากษาศาลฎีกาไม่ถูกต้องด้วยประการต่างๆ นั้น เป็นการรื้อร้องฟ้องใหม่ซึ่งประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
คารมที่คู่ความยกขึ้นอ้างเป็นข้อเถียงข้อแย้งนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นประเด็นแห่งคดีเสมอไป
ฟ้องไม่ระบุว่าทรัพย์เป็นอะไรอยู่ที่ไหน คำขอแต่เพียงว่า ‘ให้แบ่งมรดกของนายแกรนอกพินัยกรรมทั้งหมดถ้าหากมีให้โจทก์ตามส่วนที่ควรได้ตามกฎหมายนั้น’ ไม่เป็นฟ้องที่จะรับไว้พิจารณา
เมื่อผู้ร้องสอดมิได้เป็นคู่ความกับโจทก์จำเลยในคดีก่อนแม้ศาลจะได้พิพากษาชี้กรรมสิทธิในทรัพย์ว่าเป็นของจำเลยก็ดีจำเลยจะนำไปใช้ยันกับผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแห่งคดีเดิมนั้นไม่ได้ถ้าผู้ร้องสอดมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลย
เมื่อกรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยคงมีแต่เรื่องอื่นอันไม่เกี่ยวกับปัญหาที่ผู้ร้องสอดร้องสอดแล้วสิทธิของผู้ร้องสอด จึงยังไม่เกี่ยวเนื่องกับคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีผู้ร้องสอดชอบที่แยกคดีไปฟ้องร้องว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องและร้องเพิ่มเติมว่า เดิมนางน้อย นายกรี นิ่มฮ้อ ฟ้องเรียกโรงเรือนและที่ดิน 39 รายกับค่าเช่าอีกเดือนละ 301.50 บาท จากโจทก์ตามสำนวนคดีแพ่งแดงของศาลจังหวัดนครสวรรค์ที่ 189/2493 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายแกรและเป็นสินสมรสของนางน้อย โจทก์ต่อสู้ว่าฟ้องของจำเลยเคลือบคลุมทรัพย์ที่ฟ้องเป็นของนายแกรก็มี ของคนอื่นก็มี ส่วนที่เป็นของนายแกร ๆ ได้ทำพินัยกรรมนี้ยกให้โจทก์หมดไม่มีสินสมรสของนางน้อยเลย ทรัพย์นอกนั้นเป็นของนางลับ ทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ถ้าศาลฟังว่าเป็นทรัพย์ของนายแกร โจทก์ก็ถือสิทธิตามที่นายแกร ทำพินัยกรรมยกให้โจทก์แต่ศาลฎีกาเข้าใจว่า มีประเด็นเท่าที่ตกลงกันในวันชี้สองสถานเพียง 3 ข้อ เท่านั้น คือมีประเด็นว่า

1. นางน้อย และนายกรี เป็นภรรยาและบุตรของนายแกร โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2. ทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 1, 2, 3 เป็นทรัพย์ของนางลับทำพินัยกรรมนี้ยกให้โจทก์หรือไม่

3. ทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 4 เป็นของนายแกร ทำพินัยกรรมยกให้โจทก์หรือไม่

ศาลฎีกาฟังว่า นางน้อยและนายกรีเป็นภรรยาและบุตรของนายแกรและทรัพย์หมายเลข 1, 2, 3 เป็นมรดกของนายแกรทรัพย์หมายเลข 4 ไม่ได้อยู่ในความหมายของพินัยกรรมที่นายแกรทำยกทรัพย์ให้โจทก์ทั้งนี้เป็นการยอมรับฟังพยานบุคคลมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรมขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) และวินิจฉัยเลยไปถึงว่านางน้อยมีสินสมรสและค่าเช่าทั้งหมดเป็นของนางน้อยโดยไม่แสดงเหตุผลว่าอาศัยหลักเกณฑ์อะไร เป็นการนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(4) เท่ากับยังไม่ได้ วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวโดยถูกต้องและว่าไม่ได้ วินิจฉัยในประเด็นต่าง ๆ อีก 13 ประเด็นจึงขอให้เพิกถอนคำพิพากษาฎีกาในคดีเรื่องนั้นเสียถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ขอให้ศาลพิพากษาว่า คำพิพากษาฎีกาในคดีเรื่องนั้นไม่ผูกพันโจทก์โดยไม่ตัดสิทธินางน้อยที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ หรือถ้าเป็นไปไม่ได้ก็ขอไม่ให้ผูกพันโจทก์ในข้อที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาในคดีเรื่องนี้โดยให้โจทก์ได้รับมรดกตามพินัยกรรมของนายแกร ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2486 ซึ่งได้ยกที่ดินตามบัญชีทรัพย์หมายเลข ให้โจทก์ที่ 1 ผู้เดียวพร้อมด้วยห้องแถวหรือสิ่งปลูกสร้างและค่าเช่าเดือนละ 70 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน 2489 ถึงวันฟ้องจนกว่าคดีถึงที่สุด และให้ที่ดินตามบัญชีทรัพย์หมายเลข 2, 3, 4 พร้อมด้วยห้องแถว หรือสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ทั้ง 4 คน พร้อมทั้งค่า 17,493 บาทและค่าเช่าตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าคดีถึงที่สุด ให้แบ่งมรดกของนายแกรนอกพินัยกรรมทั้งหมด ถ้าหากมีให้โจทก์ที่ 1, 2 ในฐานะบุตรบุญธรรม ตามส่วนที่ควรได้ตามกฎหมาย และให้ใช้ค่าทำศพนายแกรให้โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน44,740 บาท และชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าว และขอให้สั่งว่าโจทก์มีสิทธิยึดหน่วง ในทรัพย์รายพิพาทจนกว่าจะได้รับชำระหนี้

จำเลยให้การและร้องแก้ไขเพิ่มเติมสรุปว่า โจทก์จะกลับมาฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นใหม่ไม่ได้ ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และว่าในคดีแดงที่ 189/2493 นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว คำพิพากษายอมผูกพันโจทก์ ซึ่งในคดีดังกล่าว

ที่โจทก์ที่ 1, 2 ว่าเป็นบุตรบุญธรรมของนายแกรมีสิทธิขอแบ่งมรดกทรัพย์นอกพินัยกรรมนั้น นายแกรไม่ได้รับรอง แม้เป็นบุตรบุญธรรมจริง ก็มิได้อ้างขอรับมรดก ทั้งขาดอายุความ

เรื่องค่าทำศพเป็นคนละเรื่องจะฟ้องรวมมาไม่ได้ พินัยกรรมที่โจทก์อ้างว่าเกิดอำนาจจัดการศพนายแกรนั้น จำเลยก็กล่าวอ้างแล้วว่าเป็นพินัยกรรมปลอม รายการที่จ่ายในการทำศพก็ไม่เป็นความจริง ที่โจทก์ที่ 3 เข้าครอบครองทรัพย์มรดกของนายแกรส่วนหนึ่งไว้นั้นเป็นการไม่ชอบ จึงไม่มีสิทธิยึดและขอหักหนี้ได้

ต่อมานางสำราญอักษร สุขลักษณะ ร้องสอดเข้ามาว่า เดิมที่ดินหมายเลข 1 เป็นของนางลับ ทำพินัยกรรมนี้ให้โจทก์ที่ 2, 3, 4 ต่อมานายแกร ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์รายเดียวกันนั้นให้โจทก์ที่ 1 อีกด้วยต่อมาสามีผู้ร้องได้ปลูกห้องแถวลงในที่รายนี้ 3 ห้อง และในที่ตรงกันข้าม 4 ห้อง ผู้ร้องปกครองทรัพย์รายนี้ตลอดมาครั้นนายแกรตายลงจำเลยได้ฟ้องโจทก์เรียกทรัพย์มรดกนายแกรผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความด้วยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าห้องแถวพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายแกรตกทอดมายังจำเลย แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นของจำเลย 4 หรือ 7 ห้องจำเลยถือเอาว่าเป็นของจำเลยทั้ง 7 ห้อง และเรียกเก็บค่าเช่าซึ่งผู้ร้องเห็นว่าไม่ชอบจึงขอให้ศาลแสดงว่าห้องแถว 4 หรือ 7 ห้องรวมทั้งค่าเช่าเป็นของผู้ร้อง

ศาลอนุญาตให้ร้องสอดได้ และจำเลยว่าห้องแถว 7 ห้องเป็นของจำเลยกับนายแกรปลูกสร้างขึ้น ครั้นนายแกรตาย ห้องพิพาทตกเป็นของจำเลย อย่างไรก็ดีทรัพย์หมายเลข 1, 2, 3, 4 ได้มีการพิพาทและศาลฎีกาพิพากษาเด็ดขาดถึงที่สุดไปแล้ว

จำเลยขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นว่าเป็นคดีฟ้องซ้ำ

ศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งว่า การที่นางสาวประเทืองกับพวกฟ้องนางน้อยนี้ ก็เพื่อให้ถอนคำพิพากษาคดีแดงที่ 189/2493 โดยโจทก์อ้างว่าศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นไม่ครบถ้วน ทั้งนี้เพราะไม่ต้องการให้คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันทรัพย์ 4 รายการที่ศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วคำร้องสอดของนางสำราญอักษรสุขลักษณะ ก็เกี่ยวกับทรัพย์ 4 รายการ ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วเช่นกัน ที่โจทก์ที่ 1, 2 ขอแบ่งมรดกของนายแกรนอกพินัยกรรมนั้นก็ไม่ปรากฏว่าทรัพย์อะไรอยู่ที่ไหน ฟ้องเลื่อนลอยต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อที่ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาและคำร้องสอดของนางสำราญ เสียให้พิจารณาแต่เฉพาะคำขอค่าทำศพข้อเดียว

โจทก์อุทธรณ์ว่า คำฟ้องเกี่ยวกับขอแบ่งทรัพย์นอกพินัยกรรมของนายแกรนั้นเมื่ออ่านฟ้องโดยตลอดแล้วจะเข้าใจได้ว่าหมายถึงทรัพย์หมายเลข 1, 2, 3, 4 นั้นเอง ส่วนที่ว่าเป็นฟ้องซ้ำนั้นโจทก์ได้ตั้งเป็นประเด็นขึ้นใหม่ไม่มีประเด็นต่อสู้อย่างคดีเดิมเลยจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

นางสำราญ ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมไม่ผูกพันผู้ร้องสอด

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า คดีสำหรับนางสำราญอักษร สุขลักษณะผู้ร้องสอด ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ให้ดำเนินการพิจารณาคดีระหว่างนางสำราญอักษร สุขลักษณะ ผู้ร้องสอดกับจำเลยต่อไป ค่าธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยในชั้นนี้แพ้คดีในที่สุดเป็นผู้เสียนอกจากที่แก้ คงเป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ศาลจังหวัดนครสวรรค์วินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่ศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัยไว้ในคดีเดิมประการหนึ่งกับอีกประการหนึ่งวินิจฉัยเฉพาะในประเด็นที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ครบถ้วนกระบวนความตามรูปคดีแล้วหรือไม่และที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้นั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายทุกข้อทุกประเด็นแล้วหรือหาไม่ และคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นกฎหมายหรือไม่ถ้าเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบก็น่าจะไร้ผล

จำเลยฎีกาว่า ศาลควรจะยกคำร้องสอดของนางสำราญอักษรเสียด้วยเช่นคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีนี้ได้มีการพิพาทกันในกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาเด็ดขาดไปแล้วว่าทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลย ประเด็นให้และหลังนี้ก็คือทรัพย์พิพาทจะเป็นกรรมสิทธิของใคร อาศัยเหตุอันเป็นที่มาแห่งการกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไหนอย่างไรควรมที่คู่ความยกขึ้นอ้างเป็นข้อเถียงข้อแย้งนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นประเด็นแห่งคดีเสมอไป จึงให้ยกฎีกาโจทก์

สำหรับกรณีทรัพย์นอกพินัยกรรมของนายแกรนั้น ทรัพย์นั้นเป็นอะไรโจทก์ไม่ได้ระบุกล่าวถึง คำขอแต่เพียงว่า “ให้แบ่งมรดกของนายแกรนอกพินัยกรรมทั้งหมดถ้าหากมีให้โจทก์ตามส่วนที่ควรได้ตามกฎหมายนั้น” หาเป็นฟ้องที่จะรับพิจารณาอย่างไรได้ไม่

ส่วนการร้องสอดนั้น เห็นว่าผู้ร้องสอดมิได้เป็นคู่ความกับโจทก์จำเลยคดีก่อน แม้ศาลจะได้พิพากษาชี้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ว่าเป็นของจำเลยก็ดี จำเลยจะใช้ยันกับผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแห่งคดีเดิมนั้นไม่ได้ถ้าผู้ร้องสอดมีข้ออ้างเป็นหลักว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลย ผู้ร้องสอดอาจฟ้องร้องว่ากล่าวเอากับจำเลยได้แต่ในคดีนี้ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์หามีไม่แล้ว สิทธิของผู้ร้องสอดจึงยังไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้จึงแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้นางสำราญอักษร แยกคดีไปฟ้องร้องกล่าวเป็นอีกสำนวนหนึ่งโดยคืนค่าขึ้นศาล ค่าคำสั่งและค่าให้ไปนอกนั้นคงพิพากษายืน ให้โจทก์เสียค่าทนายความในชั้นนี้แทนจำเลยอีกด้วย

Share