คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5558/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ระเบียบว่าด้วยการจ้างฯ จะระบุว่า ถ้าการจ้างรายใดจำเป็นจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างก็จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการก่อนโดยต้องจัดให้มีธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันเงินที่รับไปล่วงหน้านั้น โดยมิได้ระบุถึงกรณีออกตั๋วแลกเงินไว้ก็ตาม แต่ตั๋วแลกเงินเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือกันได้ ใช้ชำระหนี้ในวงการค้าและวงการธุรกิจเป็นปกติแพร่หลายอยู่โดยทั่วไป ผู้ใดได้ตราสารเช่นนี้ไว้เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ระบุไว้ก็สามารถรับเงินได้ ตราสารเช่นว่านี้จึงมี “คุณค่า”เป็นเงิน ต้องด้วยเจตนารมณ์ ของ ระเบียบดังกล่าว
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำในตำแหน่งผู้จัดการโรงพิมพ์ของจำเลยได้ร่วมกับพวกดำเนินการยืมเงินทดรองจ่ายจากจำเลยเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้าง ทั้งๆ ที่มิได้ทำสัญญาจ้างต่อกันโดยไม่มีธนาคารค้ำประกัน และไม่ได้ความว่าจำเป็นต้องจ่ายล่วงหน้าประการใดหรือไม่ ทำให้จำเลยต้องสูญเสียเงิน ถึง 4,223,856 บาท เป็นการผิดระเบียบว่าด้วยการจ้างฯ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าเสื่อมชื่อเสียง การกระทำของโจทก์ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แล้ว จำเลยชอบที่จะไล่ออกเสียได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและให้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า กับเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรง ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างด้วยการถูกไล่ออกนอกจากนี้โจทก์ยังต้องรับผิดคืนเงินยืมทดรองจำนวน4,223,856บาทให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้งอีกด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย มีตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากองประจำกองการเจ้าหน้าที่ ฝ่ายบริการ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2529 จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าเมื่อครั้งโจทก์รักษาการในตำแหน่งผู้จัดการโรงพิมพ์ ฝ่ายบริการ ได้สมคบกับผู้อื่นสร้างหลักฐานเท็จเบิกเงินทดรองจ่ายจำเลยไปจำนวน 4,223,805 บาท เป็นประโยชน์ส่วนตัวและผู้อื่นโดยทุจริตเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาล โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่าเมื่อครั้งโจทก์รักษาการตำแหน่งผู้จัดการโรงพิมพ์ ร.ส.พ.ได้ร่วมกับผู้อื่นรวมทั้งนายสุรศักดิ์ ฉวีวงศ์ ผู้อำนวยการของจำเลยในขณะนั้นอาศัยอำนาจหน้าที่ของนายสุรศักดิ์ ฉวีวงศ์ และของโจทก์เบิกเงินของจำเลยไปแบ่งปันกันโดยทุจริต และขัดต่อระเบียบว่าด้วยการจ้างของจำเลย กล่าวคือนายสุรศักดิ์ ฉวีวงศ์ ให้นางสาวอภิญญา กาญจนพานิช เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยพิมพ์หนังสือ จำนวน 400,000 เล่ม เป็นค่าจ้าง 4,800,000 บาท ซึ่งเกินกำลังของโรงพิมพ์ นายสุรศักดิ์มอบให้โจทก์ไปดำเนินการ ขออนุมัติว่าจ้างร้านสหกรณ์กลาโหม จำกัด ซึ่งไม่มีโรงพิมพ์ไม่เคยรับงานพิมพ์จากจำเลย และไม่มีการจ้างพิมพ์งานรายนี้แต่อย่างใด เป็นผู้รับงานช่วงในราคา 4,368,000 บาทโจทก์ทำบันทึกขอยืมเงินทดรองจำนวนดังกล่าวจากจำเลยเพื่อจ่ายเป็นค่าพิมพ์ล่วงหน้าเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จำเลยได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว โจทก์ได้รับไปแล้วและธนาคารได้หักเงินจากบัญชีของจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังกระทำการขัดต่อระเบียบว่าด้วยการจ้าง โดยเบิกเงินดังกล่าวไปโดยไม่ใช่กรณีจำเป็นที่จะต้องจ่ายเกินกว่าร้อยละ 50 ของราคาค่าจ้าง และไม่มีธนาคารค้ำประกัน การกระทำของโจทก์เป็นความผิดอย่างร้ายแรง ผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นละเมิด จำเลยจึงไล่โจทก์ออกจากงานได้ ไม่ใช่เลิกจ้างโดยกลั่นแกล้ง ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับโจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธความรับผิดโดยยืนยันตามฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ถูกไล่ออกเพราะกระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ในส่วนฟ้องแย้ง การยืมเงินทดรองกรณีนี้มิใช่เป็นการยืมเงินทดรองเพื่อใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ แต่ยืมเพื่อนำไปจ่ายในกิจการของจำเลยโดยตรง เป็นเพียงวิธีการเพื่อนำเงินออกจากคลัง แม้ยังไม่มีการหักล้างเงินยืมทดรองโจทก์ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้ง พิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าการออกตั๋วแลกเงินระบุวันถึงกำหนดใช้เงินเมื่อสิ้น 60 วัน นับแต่วันที่ออกตั๋วแลกเงินนั้น มิใช่เป็นการชำระด้วยเงินสด เมื่อไม่เป็นเงินสดกรณีจึงไม่ผิดตามระเบียบว่าด้วยการจ้างฯ เอกสารหมาย ล.21 ข้อ 5 ก. พิเคราะห์แล้ว ระเบียบว่าด้วยการจ้างฯ เอกสารหมาย ล.21 ข้อ 5 ก. มีว่า “การจ้างจะต้องไม่จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้รับ่จ้าง แต่ถ้าการจ้างรายใดจำเป็นจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างก็จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการก่อนในการนี้ผู้รับจ้างจะต้องจัดให้มีธนาคารในราชอาณาจักรไทยธนาคารหนึ่งหรือหลายธนาคารที่มีหลักฐานดีและ ร.ส.พ. เชื่อถือเป็นผู้ค้ำประกันเงินที่รับล่วงหน้าไปนั้นและเงินที่จะจ่ายต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของราคาค่าจ้าง” ศาลฎีกาเห็นว่าตามระเบียบดังกล่าว แม้จะใช้คำว่า “เงิน” และตั๋วแลกเงินมิใช่เงินก็ตาม แต่ตั๋วแลกเงินเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือกันได้ ใช้ชำระหนี้ในวงการค้าและวงการธุรกิจเป็นปกติแพร่หลายอยู่โดยทั่วไปผู้ใดได้ตราสารเช่นนี้ไว้ เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ระบุไว้ก็สามารถรับเงินได้ ย่อมเป็นที่ปรารถนาและสามารถใช้ประโยชน์ได้ทำนองเดียวกับเงินตราสารเช่นว่านี้จึงมี “คุณค่า” เป็นเงินต้องด้วยเจตนารมณ์ของระเบียบว่าด้วยการจ้างฯ เอกสารหมาย ล.21 ข้อ 5 ก.ที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในด้านธุรกิจแล้ว หาจำเป็นต้องเป็นเงินในความหมายของคำว่า “เงินสด” หรือเป็น “เงินตรา” ตามนัยที่โจทก์อุทธรณ์ไม่อุทธรณ์โจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น

เมื่อโจทก์ดำเนินการยืมเงินทดรองจ่ายไปทั้งที่จำเลยกับร้านสหกรณ์กลาโหม จำกัดยังมิได้ทำสัญญาจ้างกัน เงินที่ยืมนั้นเกือบเต็มจำนวนเงินที่จ้างไปที่ธนาคารค้ำประกันข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเป็นจะต้องจ่ายล่วงหน้าประการใดหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โ่จทก์ทำผิดระเบียบว่าด้วยการจ้างฯ เอกสารหมาย ล. 21 ข้อ 4 ก. ชอบแล้วการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยต้องสูญเสียเงินถึง 4,223,856 บาท การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง การกระทำของโจทก์ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แล้ว จำเลยชอบที่จะไล่ออกเสียได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และให้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) เมื่อถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ 45 และไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยการถูกไล่ออก

จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2(2) ขอให้โจทก์คืนเงินยืมทดรองตามฟ้องแย้งโดยอ้างเหตุผลว่า เมื่อโจทก์ยืมเงินทดรองของจำเลยไป โจทก์ย่อมตกเป็นลูกหนี้ของจำเลย บัดนี้ยังไม่มีการชำระหนี้ ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือหนี้เกลื่อนกลืน หนี้รายนี้หาระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 2 ไม่ และยังอุทธรณ์ยืนยันว่าเงิน 4,223,456 บาท เป็นเงินยืมทดรองมิใช่ไม่เป็นตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย พิเคราะห์แล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ในอุทธรณ์ของโจทก์แล้วว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยต้องสูญเสียเงินถึง 4,223,856 บาทจนบัดหนี้จำเลยก็ไม่สามารถเรียกเงินจำนวนนั้นคืนจากชมรมส่งเสริมครู (แห่งประเทศไทย) หรือจากร้านสหกรณ์กลาโหม จำกัด การสูญเสียเงินของจำเลยนับได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของโจทก์ที่ฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยการจ้างฯเอกสารหมาย ล.21 ข้อ 5 ก. ถือได้ว่าโจทก์ทำผิดสัญญาจ้างแรงงานตามที่จำเลยฟ้องแย้ง จึงชอบที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่จำเลย ทั้งนี้โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินยืมทดรองหรือมิใช่ สำหรับดอกเบี้ยควรให้โจทก์ชำระนับแต่วันที่ 23 กันยายน 2528 อันเป็นวันที่จำเลยถูกหักเงิน 4,223,856 บาท จากบัญชีตามใบแจ้งการหักบัญชีเอกสารหมาย ล.9 อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 4,223,856 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23 กันยายน 2528 จนกว่าจะชะระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share