คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5549/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห.คงมีแต่เพียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเท่านั้น ขณะที่ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลย เมื่อ ห.ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยเข้าครอบครอง ถือได้ว่าสละเจตนาที่จะครอบครองที่ดินดังกล่าว และการยกให้มีผลสมบูรณ์ทันที ไม่ต้องไปจดทะเบียนทำนิติกรรมการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
หลังจาก ห.ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้ว ได้มีการออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทในนามของ ห. แม้ ห.ยังมิได้จดทะเบียนโอนให้จำเลย แต่จำเลยได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยสงบเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตลอดจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วจำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๓๘๖ เป็นของนางห้วยมารดาโจทก์ นางห้วยได้ทำสัญญายกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยโดยมีเงื่อนไขให้สร้างตลาด หากนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นให้ที่ดินตกเป็นของนางห้วยตามเดิม จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา นางห้วยจึงไม่ทำนิติกรรมยกที่ดินให้ต่อมานางห้วยถึงแก่กรรม โจทก์ได้รับมรดกและห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดิน แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว และส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามมิให้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดิน กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท นางห้วยยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลย และจำเลยปฏิบัติตามสัญญาทุกประการ นางห้วยไม่เคยทักท้วง จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๑ ที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย และเรียกร้องค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์แต่เพียงว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ขณะที่นางห้วยทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามเอกสารหมาย จ.๔ นั้น แม้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์และการยกให้ดังกล่าว นางห้วยได้ยินยอมให้จำเลยเข้าไปครอบครองสร้างอาคารตลาดแล้วก็ตาม การให้นั้นก็ยังไม่สมบูรณ์เพราะหนังสือยกที่ดินพิพาทให้ดังกล่าวมีเงื่อนไขว่า นางห้วยจะต้องไปจดทะเบียนนิติกรรมให้จำเลยภายใน๑๒ เดือน และจำเลยจะต้องนำที่ดินที่ยกให้สร้างเป็นตลาดจะนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ หากจำเลยผิดสัญญาให้ที่ดินตกเป็นของนางห้วยทันที นอกจากนี้เมื่อออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนางห้วยแล้วนางห้วยก็ไม่ไปจดทะเบียนยกที่ดินให้จำเลยจะถือว่านางห้วยเจตนาสละการครอบครองไม่ได้ ที่ดินพิพาทคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนางห้วยและเมื่อนางห้วยถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นผู้รับมรดกจึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า ขณะที่นางห้วยยกที่ดินพิพาทให้จำเลย ที่ดินยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ นางห้วยจึงมีแต่เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ดังนั้นนางห้วยเพียงแต่ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยเข้าครอบครองก็ถือได้ว่าสละเจตนาที่จะครอบครองที่ดินพิพาทแล้วการยกให้ของนางห้วยย่อมมีผลสมบูรณ์ทันที หาจำต้องไปจดทะเบียนทำนิติกรรมการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดไม่ ทั้งยังถือได้ว่านางห้วยได้กระทำการตามเงื่อนไขนั้นเสร็จสิ้นแล้วจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนการให้ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น แม้ภายหลังจะได้มีการออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทโดยมีชื่อนางห้วยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ก็หามีผลกระทบกระเทือนการยกให้ที่สมบูรณ์ไปแล้วนั้นแต่อย่างใดไม่ หากต่อมานางห้วยเห็นว่าจำเลยผิดสัญญาการให้อย่างไรก็มีสิทธิที่จะเพิกถอนการให้นั้นได้ แต่ตามพฤติการณ์ของนางห้วยกลับปรากฏว่ามิได้ดำเนินการต่อจำเลยอย่างใดคงปล่อยให้จำเลยครอบครองหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตลอดมาจนกระทั่งถึงแก่ความตายทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญาการยกให้ นางห้วยจึงมิได้ฟ้องเรียกคืนการให้แม้ที่ดินพิพาทจะได้มีการออกโฉนดในภายหลัง และนางห้วยยังมิได้จดทะเบียนโอนให้จำเลยก็ตาม แต่จำเลยก็ได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตลอด นับแต่วันที่ได้รับการยกให้มาจากนางห้วย และวันที่มีการออกโฉนดที่ดินพิพาทจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้วจำเลยย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๘๒ โจทก์จะอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้
พิพากษายืน.

Share