คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5547/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์สลักหลังเช็คผู้ถือซึ่งจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 จึงอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามเช็คที่จะต้องรับผิดต่อผู้ทรงเท่านั้นหาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังตามกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามเช็คแทนจำเลยไปแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 989กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องบังคับภายในกำหนดเวลาเท่าใด จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) มิใช่อายุความ1 ปี หรือ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 และมาตรา 1003

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้โอนเช็คทั้งสองฉบับชำระหนี้ให้แก่ผู้มีชื่อ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดผู้มีชื่อได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ในฐานะผู้สลักหลังได้ชดใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับนั้นให้แก่ผู้มีชื่อไป แล้วเข้าถือเอาเช็คกลับคืนมา โจทก์จึงกลับเป็นผู้ทรงเช็คทั้งสองฉบับโดยชอบด้วยกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามเงินตามเช็คไปยังจำเลยแล้วจำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยในฐานะผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 822,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 700,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลงในเช็คจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 350,000 บาท ตามเช็คฉบับแรกนับแต่วันที่ 11 เมษายน2528 และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันในต้นเงิน 350,000 บาท ตามเช็คฉบับที่สองนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องทั้งหมดต้องไม่เกิน 122,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เช็คตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 เป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ โจทก์ได้นำไปแลกเงินสดจากบุคคลภายนอก ผู้รับเช็คทั้งสองฉบับนั้นไว้จากโจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คนั้น การสลักหลังเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือของโจทก์ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามเช็คที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงเท่านั้น หาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังตามกฎหมายไม่เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ตามเช็คแทนจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 989 ในกรณีเช่นนี้ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องบังคับภายในกำหนดเวลาเท่าใดสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ไล่เบี้ยจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ มิใช่อายุความ 1 ปี หรือ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 และมาตรา 1003 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share