คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5540/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาเช่าซื้อฉบับพิพาทระบุว่า ผู้เช่าซื้อตกลงชำระค่าเช่าซื้อวันละ 433.65 บาท และผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถยนต์โดยผู้เช่าซื้อเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมด ดังนี้การชำระเงินแต่ละงวดจำเลยจึงต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ด้วย การที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีของโจทก์มาเบิกความอธิบายในส่วนนี้ว่า การชำระค่างวดของจำเลย โจทก์ได้รวมค่าเบี้ยประกันภัยและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไว้ในแต่ละงวดด้วย โดยค่างวดเช่าซื้อตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้จำเลยระบุว่าจำนวนเงิน620 บาท แยกเป็นค่าเช่าซื้อ 433.65 บาท ค่าเบี้ยประกันภัย 145.79 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 40.56 บาท เพราะโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อได้ออกเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยผู้เช่าซื้อไปก่อนแล้วให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยคืนโจทก์พร้อมกับค่างวด มิใช่ค่าเช่าซื้ออย่างเดียวกรณีเป็นการเบิกความอธิบายข้อความในเอกสารใบเสร็จรับเงินที่จำเลยอ้าง มิใช่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา632,012.05 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 183,867.60 บาทแล้วผิดนัดเป็นผลให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องบอกกล่าว โจทก์ติดตามเอารถยนต์คืนและขายให้แก่บุคคลภายนอกได้เงิน 272,681.54 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 207,462.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นรับมาแต่เพียงว่า ใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1ถึง ล.3 ระบุจำนวนเงินไว้วันละ 620 บาท แต่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่าโจทก์ได้รวมค่าเบี้ยประกันภัยและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไว้ในแต่ละงวดด้วย โดยแยกเป็นค่าเช่าซื้อ 433.65 บาท ค่าเบี้ยประกันภัย 145.79 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม40.56 บาท นั้น เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อตกลงชำระค่าเช่าซื้อวันละ 433.65 บาท และข้อ 7 ก็ระบุว่า ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถยนต์โดยผู้เช่าซื้อเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมด ดังนั้น การชำระเงินแต่ละงวดนอกจากจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ยังต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ด้วย โจทก์จึงต้องออกใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวนเงินสูงกว่าค่าเช่าซื้อตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อ การที่นางจารุวรรณ พ่วงแพ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีของโจทก์มาเบิกความอธิบายในส่วนนี้ว่า การชำระค่างวดของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ได้รวมค่าเบี้ยประกันภัยและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไว้ในแต่ละงวดด้วย โดยค่างวดเช่าซื้อตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 ระบุว่า จำนวนเงิน 620 บาท นั้น แยกเป็นค่าเช่าซื้อ433.65 บาท ค่าเบี้ยประกันภัย 145.79 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 40.56 บาท เพราะโจทก์ได้ออกเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน แล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยคืนโจทก์พร้อมกับค่างวด ดังนั้น จำนวนเงิน 620 บาท ตามที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินจึงมิใช่ค่าเช่าซื้ออย่างเดียวดังที่จำเลยที่ 1 อ้างคำเบิกความของนางจารุวรรณดังกล่าว เป็นการเบิกความอธิบายข้อความในเอกสารที่จำเลยที่ 1 อ้าง มิใช่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

พิพากษายืน

Share