คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5533/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์ว่าลายมือชื่อผู้ให้ถ้อยคำเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 ซึ่งให้อำนาจศาลวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้แล้วคำสั่งของศาลภาษีอากรกลางจึงชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า การส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่โจทก์ที่ 1 ไม่ชอบเพราะมิได้ส่งไปยังสำนักงานของโจทก์ที่ 1 ที่แท้จริง จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการส่งใหม่ให้ถูกต้องโดยจำนวนภาษีและเงินเพิ่มยังคงเดิมแต่โจทก์ที่ 1กลับได้รับประโยชน์นำส่งเงินไปชำระช้าลงกว่าเดิม ทั้งต่อมาอธิบดีกรมสรรพากรก็มีหนังสือแจ้งการยกเลิกใบแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับที่มีการส่งไม่ชอบแล้ว จึงมิใช่การประเมินให้เสียภาษีซ้ำซ้อนกัน การประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับใหม่จึงชอบแล้ว การที่โจทก์ที่ 1 ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเป็นหนี้ส่วนประธานอันเป็นฐานคำนวณเงินเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แล้ว ย่อมอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวและขอให้ศาลงดหรือลดเงินเพิ่มอันเป็นหนี้ส่วนอุปกรณ์ได้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์ที่ 1 นำภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มไปชำระโดยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 มีรายได้จากการขายน้ำมันเพิ่มขึ้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 และ 2524 การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ หลังจากที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว จำเลยได้ยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ที่ 1 เป็นที่ดินมีโฉนด 2 แปลง พร้อมสิทธิการเช่าโทรศัพท์ ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยเลิกยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์ที่ 2ทั้งหมด หากศาลเห็นด้วยกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวก็ขอให้ศาลพิจารณางดหรือลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตลอดจนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์ว่าลายมือชื่อ(ผู้ให้ถ้อยคำ) ในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2หรือไม่
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น” กระบวนพิจารณาดังกล่าวนี้ไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และในข้อกำหนดของศาลภาษีอากรแต่นำมาใช้ในการพิจารณาคดีนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า”กระบวนพิจารณาในศาลภาษีอากรให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดตามมาตรา 20 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ดังนั้นเมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์ว่าลายมือชื่อผู้ให้ถ้อยคำในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ ย่อมเป็นการที่ศาลภาษีอากรกลางใช้อำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้แล้วนั่นเอง คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อโจทก์ที่ 1 มีหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าการส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่โจทก์ที่ 1 ไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 8 เพราะมิได้ส่งยังสำนักงานของโจทก์ที่ 1ที่แท้จริง เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ได้ย้ายสำนักงานไปยัง ณ ที่แห่งใหม่แล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นด้วยกับโจทก์ที่ 1 จึงได้แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลส่งให้แก่โจทก์ที่ 1 ใหม่ให้ถูกต้อง การที่เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลส่งให้แก่โจทก์ที่ 1 ใหม่ด้วยวิธีส่งแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของโจทก์ที่ 1 แทน โดยจำนวนค่าภาษีและเงินเพิ่มยังคงเดิม แต่โจทก์ที่ 1 กลับได้รับประโยชน์ในการที่จะต้องนำเงินไปชำระช้าลงกว่าเดิม ฉะนั้น การแจ้งการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับใหม่จึงเป็นเพียงการแก้ไขการส่งหนังสือแจ้งการประเมินเสียใหม่ให้ถูกต้องเท่านั้น มิใช่การประเมินให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 และปี 2524 ซ้ำซ้อนกันสองครั้งเพราะต่อมาอธิบดีกรมสรรพากรก็ได้มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ที่ 1 ว่าได้มีคำสั่งยกเลิกใบแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับแรกแล้ว ซึ่งโจทก์ที่ 1 ก็อุทธรณ์คัดค้านการประเมินได้เช่นเดิม และเมื่อโจทก์ที่ 1ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับใหม่แล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 แต่เพียงว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับใหม่ถูกต้องแล้วให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ผลก็คือโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินแก่จำเลยที่ 1เพียง 1,222,701 บาท หาได้วินิจฉัยให้โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินให้จำเลยตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับแรกรวมเป็นเงินถึง 2,445,402 บาท ไม่ กรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินกระทำเช่นนั้น การประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับใหม่จึงชอบแล้ว เทียบนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 5243/2531 คดีระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดระยองยางพารา โจทก์ นายฉลอง วงษา กับพวก จำเลย
โจทก์ที่ 1 ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 และปี 2524 ซึ่งเป็นหนี้ส่วนประธานอันเป็นฐานในการคำนวณเงินเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แล้ว ย่อมอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลรายการดังกล่าวและขอให้ศาลงดหรือลดเงินเพิ่มอันเป็นหนี้ส่วนอุปกรณ์ของภาษีเงินได้นิติบุคคลรายการดังกล่าวได้ด้วย ส่วนปัญหาที่ว่ามีเหตุอันควรงดหรือลดเงินเพิ่มแก่โจทก์ที่ 1 หรือไม่นั้นเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาได้ความว่า โจทก์ที่ 1 จงใจหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องโดยบันทึกยอดรายได้จากการขายน้ำมันต่ำไปกว่าที่ได้ขายไปจริง และบันทึกต้นทุนสินค้าสูงกว่าราคาที่โจทก์ที่ 1ซื้อมา จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มให้
พิพากษายืน

Share