คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5529/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่9923 เป็นของโจทก์ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 9927 ศาลจะบังคับคดีได้หรือไม่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาก่อนศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยให้
โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 273จำเลยก็ให้การยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้โจทก์อ้างเลขที่ของโฉนดที่ดินพิพาทผิดไป แต่การบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็แน่นอนว่าเป็นที่ดินแปลงใด การบังคับคดีจึงย่อมกระทำได้ ไม่ถือว่าเป็นการเกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับนายน้อย ติ่งทอง และนายบุญติ่งทอง จำเลยทั้งห้าเป็นบุตรของนายน้อยซึ่งตายเมื่อประมาณปี ๒๕๐๙ ก่อนตาย นายน้อย โจทก์และนายบุญ มีสิทธิครอบครองที่ดินร่วมกัน ๑ แปลง ตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๒๗๓ ซึ่งปัจจุบันคือที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๙๒๓ ตำบลนาคำ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เนื้อที่ ๒๔ ไร่เศษ มีชื่อนายน้อยเป็นเจ้าของ เมื่อปี ๒๕๐๒ นายน้อย โจทก์ และนายบุญได้แบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็น ๓ ส่วน ให้นายน้อยได้ทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ ๑๒ ไร่เศษ ให้โจทก์และนายบุญได้ทางด้านทิศใต้คนละ ๖ ไร่เศษ ในวันแบ่งที่ดินกันนั้นนายบุญได้ขายส่วนของนายบุญให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ได้ครอบครองทำกินในส่วนของโจทก์ดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยทั้งห้าไม่เคยเกี่ยวข้องต่อมาปี ๒๕๐๘ โจทก์ให้นายน้อยไปขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวทั้งแปลง เนื่องจากชื่อใน ส.ค.๑เป็นชื่อของนายน้อย ตกลงกันว่านายน้อยจะจดทะเบียนโอนโฉนดแบ่งแยกให้โจทก์ในภายหลัง แต่นายน้อยตายเสียก่อน ปี ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๑ ไปขอรับโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๙๒๓ และโอนเป็นของจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ทราบเมื่อปี ๒๕๒๓ โจทก์ขอให้จำเลยทั้งห้าจดทะเบียนโอนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งห้าปฏิเสธ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๙๒๓ ตามฟ้องด้านทิศใต้จำนวน ๑๒ ไร่เศษเป็นของโจทก์ ให้จำเลยร่วมกันไปจดทะเบียนโอนแบ่งแยกให้โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ที่ดินพิพาทตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๒๗๓ หรือโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๙๒๓ ตำบลนาคำ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เป็นของนายน้อยบิดาจำเลยทั้งห้าแต่เพียงผู้เดียว นายน้อยไม่เคยแบ่งให้โจทก์และนายบุญ นายน้อยและจำเลยทั้งห้าครอบครองทำกินตลอดมา เมื่อนายน้อยตาย จำเลยทั้งห้าก็ครอบครองร่วมกันตลอดมา โจทก์ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๑๒ ไร่ อันเป็นที่ดินส่วนทางทิศใต้ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๙๙๒๓ (ความจริงคือโฉนดเลขที่ ๙๙๒๗) ตำบลนาคำ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัด-อุบลราชธานี (ปัจจุบันจังหวัดยโสธร) เป็นของโจทก์กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันไปจดทะเบียนโอนแบ่งให้โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๙๒๗ ตำบลนาคำอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร มีชื่อนายน้อยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยที่ดินพิพาทอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดดังกล่าว เมื่อนายน้อยตายจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นบุตรนายน้อยได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นของตน ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้ามีว่า โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๙๒๓ เป็นของโจทก์เนื้อที่ ๑๒ ไร่ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินโฉนดเลขที่๙๙๒๗ ศาลจะบังคับคดีได้หรือไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งห้าจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาก่อน ศาลฎีกาก็เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้
โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๒๗๓จำเลยทั้งห้าก็ให้การยอมรับข้อเท็จจริงนี้ แม้โจทก์จะอ้างเลขที่ของโฉนดที่ดินพิพาทผิดไป แต่การบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็แน่นอนว่าเป็นที่ดินแปลงใด การบังคับคดีจึงย่อมกระทำได้ ไม่ถือว่าเป็นการเกินคำขอตามประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒
พิพากษายืน.

Share