คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 เป็นกฎหมายกลางว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปของรัฐ ฉะนั้น จึงนำวิธีปฏิบัติในการเวนคืนตลอดจนบทลงโทษในกรณีมีผู้ขัดขวางมิให้เจ้าหน้าที่เข้าครอบครองทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้มาใช้บังคับแก่การเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งมิได้บัญญัติวิธีปฏิบัติและบทลงโทษไว้โดยเฉพาะได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองห้องเลขที่ ๗๔๑, ๗๔๓, ๗๔๓/๑ ถนนมังกร ในที่ดินโฉนดที่ ๑๓๙๕ ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่ตอ้งเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลในทอ้งที่ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร พ.ศ. ๒๔๙๖ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครกรุงเทพ ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ประกาศแจ้งความ แสดงความจำนงจะเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนนี้แล้ว และได้ส่งแจ้งความดังกล่าวนี้แล้วแก่จำเลย เมื่อ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ กำหนดเอาวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๕ เป็นวันเข้าครอบครองห้องดังกล่าวของจำเลย จำเลยรับแจ้งความและทราบกำหนดวันที่กล่าวนั้นในวันนั้นแล้ว ระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๕ ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง (ฟ้อง ๗ มิถุนายน ๒๕๐๕) จำเลยได้บังอาจขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวข้างต้น ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๓๓
จำเลยให้การว่า เคยขอผ่อนผันต่อนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ ไม่ได้รับคำตอบปฏิเสธ จึงเข้าใจว่าได้รับการผ่อนผันจึงมิได้มีเจตนาขัดขวาง และตัดฟ้องว่า ที่ดินถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวง ฯลฯ พ.ศ. ๒๔๙๖ จะขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งไม่ได้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยมีเจตนาขัดขวางจริง ผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓๓ จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า จะนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ส. ๒๔๙๗ มาปรับบทลงโทษจำเลยได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๐ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ทั่วไปเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้เหมาะสมแก่กาลสมัย พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงใช้บังคับได้กับการเวนคืนโดยทั่วไปของรัฐ ในเมื่อพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นัน ๆ มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ในกรณีของจำเลยนี้ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงในท้องที่ตำบลจักรวรรดิ์ฯ พ.ศ. ๒๔๙๖ มีบทบัญญัติเพียงว่า ให้มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลจักรวรรดิฯ ให้แก่เทศบาลนครกรุงเทพ เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลโดยมีขนาดแนวทางดังปรากฏในแผนผังและบัญชีที่ดินแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ ส่วนวิธีปฏิยัติในการเวนคืนตลอดจนบทลงโทษในกรณีมีผู้ขัดขวางมิให้เจ้าหน้าที่เข้าครอบครองทรัพย์สินมิได้มีบัญญัติไว้ จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗
ซึ่งเป็นกฎหมายกลางว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขัดขวางตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๕ ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ซึ่งเป็นวันภายหลังพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ประกาศใช้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องนำกฎหมายอาญามาใช้ย้อนหลังดังข้อฎีกาของจำเลย
พิพากษายืน

Share