คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5509-5510/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานเพียงว่า จำเลยจ่ายเงินเดือนหรือโบนัสให้แก่ลูกจ้างในปีที่ผ่านมา โดยมิได้รับฟังข้อเท็จจริงตามงบการเงินที่แสดงถึงฐานะแห่งกิจการของจำเลยอย่างแท้จริงตามที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นเชิงลบอย่างร้ายแรงต่อสถานะของกิจการของจำเลยว่าที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการซึ่งถือเป็นความไม่แน่นอนที่สำคัญ หากไม่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จำเลยอาจจำเป็นต้องปรับปรุงมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ จัดประเภทสินทรัพย์และหนี้สินใหม่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป แต่ศาลแรงงานกลางกลับให้น้ำหนักพยานหลักฐานประกอบ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อนายจ้างที่ประสบภาวะขาดทุนเช่นจำเลยนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวประสงค์ที่จะให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้นั่นเอง อันเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การวินิจฉัยว่ากรณีใดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลชอบที่จะพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่ฟังมาเป็นหลักในการวินิจฉัยและฟังว่า จำเลยไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ เพราะยังได้จ่ายเงินเพิ่มหรือโบนัสให้ลูกจ้างในปีที่ผ่านมาประกอบกับจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและลูกจ้างอื่นอีก 5 คน จากลูกจ้างทั้งหมดประมาณ 240 คน โดยที่โจทก์ทั้งสองทำงานมานานและอายุมากแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ผลการประเมินการปฏิบัติงานในสิ้นปี 2546 ซึ่งประเมินลูกจ้างทุกคนประจำปีไว้ก่อนการเลิกจ้างและถือคะแนนการประเมินเป็นเกณฑ์การเลิกจ้าง โดยไม่ปรากฏว่ามีการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด แต่หลักเกณฑ์การเลิกจ้างดังกล่าวจำเลยก็มิได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าจะใช้หลักเกณฑ์ผลการประเมินการปฏิบัติงานปี 2546 มาเป็นเกณฑ์การเลิกจ้าง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า กรณีเช่นนี้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 หาใช่เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยอุทธรณ์มาไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดทั้งไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งสองต้องขาดรายได้ตกงาน โจทก์ทั้งสองมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเนื่องจากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงระบบงานต่าง ๆ รวมทั้งระบบงานบริหารสินค้าคงคลังและงานคลังสินค้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ต่ำลงเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และลดต้นทุนและรายจ่ายในการประกอบกิจการ เพื่อให้ธุรกิจของจำเลยสามารถดำเนินการต่อไปได้ จำเลยมีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2541 จนถึงปัจจุบัน ในรอบปีบัญชี 2546 ก่อนเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั้นจำเลยมีผลขาดทุน จำเลยเริ่มปรับปรุงระบบบริหารงานสินค้าคงคลังและงานคลังสินค้าเพื่อลดค่าเช่าคลังสินค้าและลดค่าใช้จ่าย จำเลยมีความจำเป็นต้องลดการจ้างงานในหน่วยงานต่าง ๆ ในฝ่ายคลังสินค้า รวมทั้งหน่วยงานตรวจสินค้าซึ่งโจทก์ที่ 1 ทำงานอยู่และหน่วยงานจัดสินค้าซึ่งโจทก์ที่ 2 ทำงานอยู่ ในการพิจารณาเลิกจ้างจำเลยได้พิจารณาจากผลการประเมินการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของลูกจ้างแต่ละคน โดยเลิกจ้างลูกจ้างที่มีผลการประเมินต่ำกว่าลูกจ้างคนอื่นในหน่วยงานเดียวกัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสองครบถ้วนแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเนื่องจากความจำเป็นของจำเลยมิได้กระทำการโดยเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 120,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 3.1 ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานเพียงว่า จำเลยจ่ายเงินเดือนหรือโบนัสให้แก่ลูกจ้างในปีที่ผ่านมา โดยมิได้รับฟังข้อเท็จจริงตามงบการเงินที่แสดงถึงฐานะแห่งกิจการของจำเลยอย่างแท้จริงตามที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นเชิงลบอย่างร้ายแรงต่อสถานะของกิจการของจำเลยว่าที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการซึ่งถือเป็นความไม่แน่นอนที่สำคัญ หากไม่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จำเลยอาจจำเป็นต้องปรับปรุงมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ จัดประเภทสินทรัพย์และหนี้สินใหม่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป แต่ศาลแรงงานกลางกลับให้น้ำหนักพยานหลักฐานประกอบ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อนายจ้างที่ประสบภาวะขาดทุนเช่นจำเลย นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวประสงค์ที่จะให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้นั่นเอง อันเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 3.2 และ 3.3 โดยสรุปว่า การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้ขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและลูกจ้างอื่นอีก 5 คนจากลูกจ้างทั้งหมด 240 คน โดยมิได้มีการยุบแผนกที่โจทก์ทั้งสองทำงาน แล้ววินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการแปลกฎหมายที่ขัดต่อเหตุผลและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุที่จำเลยประกอบการขาดทุนจำนวนมาก และจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ผลการประเมินการปฏิบัติงานในสิ้นปี 2546 เป็นเกณฑ์การเลิกจ้างโดยไม่ปรากฏว่ามีการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางไม่เป็นธรรมต่อจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนายจ้าง นั้น เห็นว่า การวินิจฉัยว่ากรณีใดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลชอบที่จะพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่ฟังมาข้างต้นเป็นหลักในการวินิจฉัยและฟังว่า จำเลยไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้เพราะยังได้จ่ายเงินเพิ่มหรือโบนัสให้ลูกจ้างในปีที่ผ่านมาประกอบกับจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและลูกจ้างอื่นอีก 5 คน จากลูกจ้างทั้งหมดประมาณ 240 คน โดยที่โจทก์ทั้งสองทำงานมานานและอายุมากแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ผลการประเมินการปฏิบัติงานในสิ้นปี 2546 ซึ่งประเมินลูกจ้างทุกคนประจำปีไว้ก่อนการเลิกจ้างและถือคะแนนการประเมินเป็นเกณฑ์การเลิกจ้าง โดยไม่ปรกาฏว่ามีการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด แต่หลักเกณฑ์การเลิกจ้างดังกล่าวจำเลยก็มิได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าจะใช้หลักเกณฑ์ผลการประเมินการปฏิบัติงานปี 2546 มาเป็นเกณฑ์การเลิกจ้าง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า กรณีเช่นนี้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หาใช่เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยอุทธรณ์มาไม่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share