คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา174เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่และต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้ฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงการที่จำเลยตอบคำถามค้านว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงเป็นอาวุธปืนไม่มีทะเบียนจะถือเท่ากับว่าเป็นคำรับสารภาพตามมาตรา176หาได้ไม่เมื่อโจทก์ไม่สืบก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ความผิดฐานพยายามฆ่ารวมการกระทำฐานทำร้ายร่างกายอยู่ด้วยศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามที่พิจารณาได้ความได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,91, 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 297(8) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานทำร้ายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ลงโทษฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 8 เดือนฐานพาอาวุธปืนไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก5 ปี 14 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 12 เดือน 40 วันข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เพียงว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 232 เพียงแต่ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานแต่ไม่ได้ห้ามโจทก์ซักค้านจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยานเมื่อจำเลยตอบคำซักถามฝ่ายตนแล้ว โจทก์มีสิทธิซักค้านคาดคั้นเอาความจริงได้ และโจทก์ย่อมถือเอาประโยชน์จากการตอบคำซักค้านดังกล่าวนั้นได้ ที่จำเลยตอบคำซักค้านว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงนั้นเป็นอาวุธปืนไม่มีทะเบียน การตอบคำซักค้านเช่นนี้มีผลไม่ต่างไปจากคำให้การรับสารภาพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 แม้โจทก์ไม่นำสืบในข้อนี้ ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตได้ พิเคราะห์แล้ว ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ และต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้ฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริงที่จำเลยตอบคำถามค้านว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงนั้นเป็นอาวุธปืนไม่มีทะเบียน จะถือเท่ากับว่าเป็นคำรับสารภาพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 และฟังเอาเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่สืบก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปที่ว่าศาลมีอำนาจพิพากษาว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยพยายามฆ่า แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส ข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องศาลต้องพิพากษายกฟ้องนั้นพิเคราะห์แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้ายบัญญัติว่า ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ซึ่งความผิดฐานพยายามฆ่านั้นรวมการกระทำฐานทำร้ายร่างกายอยู่ด้วยศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) ได้”
พิพากษายืน

Share