คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยอ้างอิงพินัยกรรมแนบท้ายคำร้องเพื่อสืบเป็นพยานในชั้นอุทธรณ์ โดยมิได้ระบุไว้ในบัญชีระบุพยาน เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 จึงรับฟังไม่ได้และกรณีไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือที่จำเลยไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือไม่ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลอุทธรณ์ไม่สั่งคำร้องจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่เคยทำสัญญายกที่ดินตามฟ้องให้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าสัญญาให้ของโจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และการที่โจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยได้โอนหุ้นบริษัทบ. รถยนต์ พันธบัตรรัฐบาลและให้เงินสดแก่โจทก์ แล้วโจทก์โอนที่ดินให้จำเลยเป็นการอำพรางสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น เป็นเพียงการรับว่าจำเลยเคยให้ทรัพย์สินแก่โจทก์ เป็นการตอบข้อเท็จจริงนอกประเด็น ฎีกาจำเลยที่ว่า สัญญาให้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางโดยนิติกรรมที่แท้จริงคือสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา จึงมิใช่เรื่องที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์เป็นผู้ยกที่ดินให้จำเลยผู้เป็นภริยาระหว่างสมรสโจทก์มีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสในเวลาใดก็ได้ระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ โจทก์มีหนังสือบอกล้างไปถึงจำเลยเป็นการบอกล้างโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว แม้สิทธิบอกล้างจะเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่เมื่อมีการบอกล้างโดยชอบก่อนที่โจทก์จะถึงแก่กรรมแล้วจึงไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวอีกต่อไปและย่อมตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ด้วย ทายาทของโจทก์จึงเข้าเป็นคู่ความแทนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย ระหว่างสมรสโจทก์ได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนให้จำเลย ต่อมาโจทก์ประสงค์จะบอกล้างสัญญาให้ที่ดินดังกล่าว จึงได้มีหนังสือบอกล้างถึงจำเลยให้โอนที่ดินคืนโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาให้เพิกถอนขีดฆ่าหนังสือสัญญาระหว่างสมรสของโจทก์จำเลยให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในโฉนดที่ดินตามฟ้องเป็นชื่อของโจทก์ร่วมกับจำเลยดังเดิมให้จำเลยนำสัญญาระหว่างสมรสพร้อมกับโฉนดที่ดินไปสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยยกที่ดินตามฟ้องให้จำเลยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้บรรยายเหตุที่จะบอกล้างสัญญาและโจทก์ได้แสดงเจตนาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้อง จำเลยไม่ได้รับหนังสือบอกล้าง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายเทวิน สุทัตตกุลและนางสาววาสนา ภู่พานิช ทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 21051, 10935, 10936, 1279 และ 1752 ตำบลหนองปรืออำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ระหว่างโจทก์จำเลย คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายสารวิบุล รามโกมุททายาทและผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์อนุญาต และจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 8 มิถุนายน 2533ขออนุญาตยื่นพยานเอกสารเพิ่มเติม แต่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคำร้องนี้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาคำสั่งที่ศาลอุทธรณ์ไม่สั่งคำร้องลงวันที่ 8 มิถุนายน 2533 ของจำเลย ซึ่งจำเลยได้ยื่นระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยอ้างอิงพินัยกรรมแนบมาท้ายคำร้องเพื่อสืบเป็นพยานในชั้นอุทธรณ์ โดยจำเลยมิได้ระบุไว้ในบัญชีระบุพยาน เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 จึงรับฟังไม่ได้ และกรณีก็ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือที่จำเลยไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือไม่ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ฎีกาคำสั่งของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาให้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นเพียงนิติกรรมอำพรางโดยนิติกรรมที่แท้จริงนั้นคือสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น เห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่เคยทำสัญญายกที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลย มิได้ให้การต่อสู้ว่าสัญญาให้ของโจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและการที่โจทก์ตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า จำเลยได้โอนหุ้นบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด รถยนต์พันธบัตรรัฐบาลและให้เงินสดแก่โจทก์ แล้วโจทก์ได้โอนที่ดินให้จำเลยเป็นการอำพรางสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น ก็เป็นเพียงการรับว่าจำเลยเคยให้ทรัพย์สินแก่โจทก์เป็นการตอบข้อเท็จจริงนอกประเด็น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ จึงมิใช่เรื่องที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ข้อสุดท้ายจำเลยฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 เพราะสิทธิการบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสย่อมตกแก่จำเลยเป็นผู้บอกล้างและสิทธินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกทอดแก่ทายาทนั้นเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ยกที่ดินให้จำเลยผู้เป็นภริยาระหว่างสมรส โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสในเวลาใดก็ได้ระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ ซึ่งการบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสนี้โจทก์มีสำเนาหนังสือบอกล้าง และใบตอบรับไปรษณีย์มาอ้างอิงเป็นพยานหลักฐาน โดยจำเลยไม่นำสืบคัดค้านข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแก่จำเลยโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว แม้สิทธิบอกล้างจะเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่เมื่อมีการบอกล้างโดยชอบดังกล่าวก่อนที่โจทก์จะถึงแก่กรรมแล้วกรณีจึงไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวอีกต่อไปและย่อมตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ด้วย ทายาทของโจทก์จึงเข้าเป็นคู่ความแทนได้
พิพากษายืน

Share