แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าร้านอาหารพิพาทจากจำเลยที่ 1ต่อมาจำเลยที่ 2 กับชายคนหนึ่งซึ่งพกอาวุธปืนติดตัวได้พากันไปที่ ร้านอาหารพิพาท ซึ่งมี จ. ลูกจ้างโจทก์เฝ้าดูแลอยู่ จำเลยที่ 2 สั่ง จ. ให้ออกจากร้าน มิฉะนั้นจะปิดกุญแจขัง จ. กลัวจึงยอมออกจากร้านจำเลยที่ 2 ได้ปิดกุญแจร้านอาหารพิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถประกอบกิจการร้านอาหารและไม่สามารถนำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของโจทก์ซึ่งซื้อมาใช้ในการประกอบกิจการออกจากร้านอาหารพิพาทได้ หลังจากนั้นอีก 3 ถึง 4 วัน จำเลยที่ 1 ได้ให้ บุคคลอื่นเข้าทำกิจการร้านอาหารพิพาทแทน นอกจากนั้นโจทก์ ยังนำสืบว่าไม่เคยค้างชำระค่าเช่าจำเลยที่ 1 คดีจึงยังมีปัญหาข้อเท็จจริง ที่ต้องให้ปรากฏชัดแจ้งก่อนว่า โจทก์ผิดสัญญาเช่าหรือไม่ ข้อเท็จจริง ที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 364, 365 ประกอบด้วยมาตรา 83 มีมูล ให้ประทับฟ้องไว้ พิจารณาได้ การที่ศาลล่างทั้งสองด่วนวินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าตามสัญญาจึงไม่ชอบ
จำเลยที่ 2 ให้ จ. ออกจากร้านอาหารพิพาทเพื่อปิดร้าน มิใช่การกระทำเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในสวนอาหารและห้องอาหารชื่อร้านไม้ไทย เลขที่ 663/16อันเป็นเคหสถานที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ โดยจำเลยที่ 1 จ้างวานให้จำเลยที่ 2 นำลูกกุญแจปิดล็อกประตูทางเข้าออกห้องอาหารและสถานที่เก็บอาหารโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข และจำเลยที่ 2 ได้ข่มขืนใจให้นายจีระศักดิ์กระฉอดนอกเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสถานที่ของโจทก์สละการครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และให้ออกจากสถานที่ดังกล่าว มิฉะนั้นจะปิดขังมิให้ออกนอกเคหสถานดังกล่าวนายจีระศักดิ์จึงจำยอมมอบทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ลักเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปจากโจทก์ โดยเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการทำการค้าไม่น้อยกว่าวันละ 10,000 บาทและต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นมูลค่า 821,020 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365, 337, 334 และ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยมิได้ขออนุญาตหรือมีคำรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ ความผิดฐานลักทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานบุกรุกและกรรโชกตามที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่โจทก์ฟ้องและนำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าร้านอาหารพิพาทจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 ต่อมาวันที่ 22 มกราคม2542 จำเลยที่ 2 กับชายคนหนึ่งซึ่งพกอาวุธปืนติดตัวได้พากันไปที่ร้านอาหารพิพาทซึ่งมีนายจีรศักดิ์ลูกจ้างโจทก์เฝ้าดูแลอยู่ จำเลยที่ 2 สั่งนายจีระศักดิ์ให้ออกจากร้านมิฉะนั้นจะปิดกุญแจขัง นายจีระศักดิ์กลัวจึงยอมออกจากร้านจำเลยที่ 2 ได้ปิดกุญแจร้านอาหารพิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถประกอบกิจการร้านอาหารและไม่สามารถนำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของโจทก์ซึ่งซื้อมาใช้ในการประกอบกิจการออกจากร้านอาหารพิพาทได้ หลังจากนั้นอีก 3 ถึง 4 วัน จำเลยที่ 1 ได้ให้บุคคลอื่นเข้าทำกิจการร้านอาหารพิพาทแทน นอกจากนั้นโจทก์ยังได้นำสืบว่าไม่เคยค้างชำระค่าเช่าจำเลยที่ 1 ดังนี้ ยังมีปัญหาข้อเท็จจริงที่จะต้องให้ปรากฏชัดแจ้งก่อนว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองด่วนวินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าตามสัญญาจึงไม่ชอบ โดยควรฟังข้อเท็จจริงให้ยุติปราศจากข้อโต้แย้งเสียก่อนข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุกมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาได้ ส่วนความผิดฐานกรรโชกนั้น เห็นว่านอกจากโจทก์จะมิใช่ผู้เสียหายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว การที่จำเลยที่ 2ให้นายจีระศักดิ์ออกจากร้านอาหารพิพาทเพื่อปิดร้าน มิใช่การกระทำเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกอีกด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ชอบแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 364, 365 ประกอบด้วยมาตรา 83 ไว้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์