แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยตกลงซื้อปลาจากแพปลาของโจทก์ในจังหวัดสงขลา เพื่อให้ส่งปลาไปให้จำเลยที่จังหวัดภูเก็ต สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลา ส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่ส่งและรับมอบสินค้า เมื่อจำเลยผิดสัญญา มูลความแห่งคดีจึงเกิดขึ้นเนื่องจากสัญญาซื้อขายดังกล่าว ศาลจังหวัดสงขลาจึงเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลย่อมมีอำนาจรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างต้นปี 2530 ถึงต้นปี 2533 จำเลยทั้งสามร่วมกันสั่งซื้อสินค้าสัตว์น้ำไปจากโจทก์และยังคงค้างชำระค่าสินค้าเป็นเงิน 945,432 บาท ต่อมาวันที่ 6มิถุนายน 2533 จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2533 จำเลยทั้งสามร่วมกันสั่งซื้อสินค้าอาหารทะเลและสัตว์น้ำทะเลไปจากโจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์รวม 138 ครั้ง คิดเป็นเงิน4,791,304 บาท รวมเป็นค่าสินค้าที่ค้างชำระทั้งสิ้น 5,736,736 บาท จำเลยทั้งสามได้รับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสามชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์บางส่วนโดยครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2535 จำเลยทั้งสามยังคงค้างชำระค่าสินค้าอยู่อีกจำนวน2,886,736 บาท จำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าภายใน 7 วัน นับแต่วันรับสินค้าตามสัญญา โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน660,002 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,546,738 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 2,886,736 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า การซื้อขายสินค้าอาหารทะเลระหว่างแพปลากนกวรรณกับจำเลยที่ 1 แพปลากนกวรรณจะนำสินค้าไปเสนอให้แก่จำเลยที่ 1 ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อจำเลยที่ 1 มีความประสงค์จะซื้อจึงจะมีการกำหนดราคาและตรวจนับ สถานที่มูลคดีจึงเกิดในเขตศาลจังหวัดภูเก็ต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามที่ศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,841,304 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (6 กรกฎาคม 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า มูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดภูเก็ต เพราะโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายและส่งมอบปลากันที่จังหวัดภูเก็ตนั้น โจทก์มีนายทวีเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 มาติดต่อสั่งซื้อปลาที่แพปลากนกวรรณซึ่งอยู่ในจังหวัดสงขลา เพื่อให้ส่งปลาไปให้โรงงานแปรรูปของจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับปลาแล้วก็จะโอนเงินผ่านธนาคารในจังหวัดภูเก็ตมาเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 มิได้นำจำเลยที่ 2 มาเบิกความปฏิเสธเป็นอย่างอื่น คงมีแต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่า แพปลากนกวรรณจะบรรทุกปลาไปที่ทำการของจำเลยที่ 1 ในจังหวัดภูเก็ตเสมียนจะเป็นผู้ตรวจชั่ง ตกลงซื้อและออกใบรับสินค้าให้โจทก์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้ตกลงซื้อขายกับโจทก์เอง ทั้งเบิกความว่าไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 จะไปตกลงซื้อปลาที่จังหวัดสงขลาหรือไม่ ยังฟังไม่ได้ว่าการทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1เกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งจำเลยที่ 3 และนายกุศล พรหมมาศ พยานจำเลยเบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนเงินผ่านธนาคารในจังหวัดภูเก็ตไปชำระค่าปลาเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารในจังหวัดสงขลาและนายกุศลยังเบิกความด้วยว่าการสั่งซื้อปลาจากแพปลากนกวรรณนั้น เมื่อทางแพปลากนกวรรณแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบทางโทรศัพท์ว่ามีปลาแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะตอบกลับไปให้แพปลาส่งปลามาให้จำเลยที่ 1 ได้ เจือสมกับคำเบิกความของนายทวีทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยที่ 1 ยิ่งขึ้น ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการได้ไปตกลงซื้อปลาจากแพปลากนกวรรณของโจทก์ในจังหวัดสงขลาเพื่อให้ส่งปลาไปให้จำเลยที่ 1 ที่จังหวัดภูเก็ต สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลา ส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่ส่งและรับมอบสินค้า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา มูลความแห่งคดีจึงเกิดขึ้นเนื่องจากสัญญาซื้อขายดังกล่าว ศาลชั้นต้นซึ่งอยู่ในจังหวัดสงขลาจึงเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลย่อมมีอำนาจรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) ฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน