คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5475/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินโดยให้บริษัทร. ลูกหนี้ของผู้ล้มละลายถือกรรมสิทธิ์แทน และบริษัทร. ได้นำไปจดทะเบียนจำนองแก่ผู้ล้มละลายเพื่อประกันหนี้เงินกู้ของบริษัทร. ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความทวงหนี้ให้บริษัทร. ชำระหนี้ผู้ร้องจึงขอเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้จำนองต่อที่ประชุมเจ้าหนี้โดยขอผ่อนชำระหนี้จำนองนั้นเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียที่จะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในที่ดินของผู้ร้องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อื่นยึดไว้เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้จำนองแก่ผู้ล้มละลาย เมื่อการเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าจะขัดกับเจตนาของบริษัทร. และผู้ล้มละลายแล้วผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้แทนบริษัทร. ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 และมาตรา 314 กรณีไม่ใช่เรื่องการขอประนอมหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ล้มละลายโดยเฉพาะ เพราะผู้ร้องไม่ใช่ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องแทนบริษัทร. แก่กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายมีผลทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องถอนการยึดที่ดินอันเป็นทรัพย์ในคดีล้มละลาย ชอบที่ศาลจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 32 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เยาวราช จำกัด ผู้ล้มละลายเด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2530 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือที่ 0305/2782/2530 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2530 แจ้งให้บริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัด ลูกหนี้ของผู้ล้มละลายชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 11,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 652, 937, 5668, 5669, 5670, 5684, 5695, 5696, 5697, 5698, 5699, 9145, 9146 และ 9147 รวม 14 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างโรงแรมไทยรุ่งโรจน์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 14 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หากจะปฏิเสธก็ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ลูกหนี้มิได้ชำระหนี้หรือปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดจึงถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเป็นเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ออกคำบังคับและหมายบังคับคดีแก่ลูกหนี้ชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นขอให้ศาลจังหวัดตราดบังคับคดีแทนและได้มอบให้ผู้แทนนำเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดตราดยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและประกาศขายทอดตลาด ผู้ร้องมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในทรัพย์สินที่ถูกยึด เพียงแต่ให้บริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัด ลูกหนี้ของผู้ล้มละลายถือกรรมสิทธิ์แทน และเสนอเงื่อนไขในการชำระหนี้จำนองดังนี้1. ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ก่อน โดยขอเลื่อนการขายออกไปเพื่อรอฟังมติของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือกรรมการเจ้าหนี้ก่อน 2. ในหนี้จำนองตีราคายึดไว้ 20,090,000 บาท ผู้ร้องขอทยอยชำระให้เสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมเจ้าหนี้ กรรมการเจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยชำระให้ปีละ 4,018,000บาท จนกว่าจะครบจำนวนที่เป็นหนี้ 3. เมื่อชำระครบแล้วจะขอรับโฉนดที่ดินทั้งสิบสี่โฉนดคืน 4. ค่าเสียหายและค่าประกาศขายทอดตลาดและค่าเสียหายอื่น ๆ ยินดีเป็นฝ่ายเสียเองเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ของผู้ล้มละลายไม่มีอำนาจยื่นข้อเสนอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ จึงมีคำสั่งไม่ต้องปฏิบัติตามข้อเสนอ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 เพราะบริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัด มีฐานะเป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแทนผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการผู้ร้องสามารถเสนอขอชำระหนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งกลับหรือแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยให้เสนอเงื่อนไขการชำระหนี้จำนองของผู้ร้องต่อที่ประชุมเจ้าหนี้
ศาลชั้นต้นรับคำร้องและนัดพิจารณาแล้วต่อมามีคำสั่งว่าแม้จะเป็นความจริงตามคำร้องของผู้ร้องก็ตาม แต่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกอยู่ในบังคับจำนอง ไม่ว่ากรรมสิทธิ์จะเป็นของผู้ใด หากไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก็ย่อมถูกบังคับจำนองได้ดังนั้น ที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวน จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง ให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้อง และให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีตามคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องคัดค้านการยึดทรัพย์ แต่ผู้ร้องหลบเลี่ยงค่าธรรมเนียมกลับยื่นข้อเสนอขอผ่อนชำระหนี้อันมีลักษณะเป็นคำขอประนอมหนี้ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ล้มละลายโดยเฉพาะ ผู้ร้องไม่มีสิทธิเสนอคำขอประนอมหนี้ในคดีนี้ได้ พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องยอมรับในหนี้จำนองของบริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัด ลูกหนี้ของผู้ล้มละลายอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้ร้องขอชำระหนี้แทนโดยมีเงื่อนไขไม่ใช่เป็นเรื่องการขอประนอมหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 เพราะผู้ร้องหรือบริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัดมิใช่ผู้ล้มละลาย ผู้ร้องไม่ได้ร้องขัดทรัพย์หรือขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ยึดเป็นของลูกหนี้ของผู้ล้มละลายนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 14 แปลงโดยให้บริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัด ลูกหนี้ถือกรรมสิทธิ์แทนและลูกหนี้ได้นำไปจดทะเบียนจำนองแก่ผู้ล้มละลาย เพื่อประกันหนี้เงินกู้ของลูกหนี้ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความทวงหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ผู้ร้องจึงขอเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้จำนองต่อที่ประชุมเจ้าหนี้โดยขอผ่อนชำระหนี้จำนองนั้น เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียที่จะต้องเสี่ยงภัยสิทธิในที่ดินของผู้ร้องทั้ง 14 แปลง ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดตราดยึดไว้เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้จำนองแก่ผู้ล้มละลายเมื่อการเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าจะขัดกับเจตนาของลูกหนี้และผู้ล้มละลายแล้วผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้เสียแทนลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230และมาตรา 314 กรณีไม่ใช่เรื่องการขอประนอมหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ล้มละลายโดยเฉพาะเพราะผู้ร้องไม่ใช่ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 และไม่ใช่เรื่องที่ผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์หรือขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์เฉพาะตามคำร้องของผู้ร้องไม่ได้ประสงค์ขอให้ปล่อยทรัพย์หรือเพิกถอนการยึดทรัพย์ และหากผู้ร้องชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแทนลูกหนี้ครบถ้วนแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเรียกกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวจากลูกหนี้ต่อไป ซึ่งหาใช่ข้อพิพาทในชั้นนี้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาและเมื่อข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องแทนลูกหนี้ดังกล่าวแก่กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายมีผลทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องถอนการยึดที่ดินทั้งสิบสี่โฉนดอันเป็นทรัพย์ในคดีล้มละลายเช่นนี้ศาลก็ชอบที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 32 ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นเพื่อพิจารณาข้อเสนอชำระหนี้แทนลูกหนี้ของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 ต่อไป

Share