คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5474/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 วางเงินโดยมีเงื่อนไข ทำให้โจทก์ยังไม่ได้รับเงินทั้ง ๆ ที่ตาม พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกฯ พ.ศ. 2526 กำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนไว้ อันมีผลให้กรรมสิทธิ์โอนไปด้วยอำนาจกฎหมายโดยไม่จำต้องทำการแบ่งแยกโฉนด เมื่อโจทก์ไม่สามารถรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำไปวางไว้ต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางในคราวเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่ามีการวางเงินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง ระยะเวลาหนึ่งปีจึงยังไม่เริ่มนับ โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงไว้ในข้อ 76 ว่า เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษใน พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ ฯลฯ (2)ในวันที่ พ.ร.ฎ.กำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตรา พ.ร.ฎ.เช่นว่านั้น ฯลฯ ตาม พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกฯ พ.ศ. 2526 ไม่มีบทบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับเงินค่าทดแทน แต่ปรากฏว่าได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2524 การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยใช้ราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2514 ราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3867แขวงคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) เขตพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งใช้ประกอบกิจการโรงเรียนอโศกวิทย์วันที่ 19 ธันวาคม 2524 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 ประกาศใช้บังคับ กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 99 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง คืออาคารเรียนไม้สักชั้นเดียวเลขที่ 8 โรงอาหารไม้สักและรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กอยู่ในเขตที่ถูกเวนคืน จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ 6,000 บาท และค่ารื้อถอนอาคารเรียนไม้สักเลขที่ 8 เป็นเงิน 588,248 รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น1,182,248 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากมิได้กำหนดให้ตามราคาซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงนำเงินค่าทดแทนไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลางกรมบังคับคดี ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2530 เพื่อชำระให้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์รับเงินค่าทดแทนที่ดินได้กึ่งหนึ่งเมื่อนำโฉนดที่ดินยื่นขอทำการรังวัดแบ่งเวนคืนฯ ต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและอีกกึ่งหนึ่งจะรับได้ต่อเมื่อได้จดทะเบียนเป็นทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกเสร็จแล้ว ส่วนค่าทดแทนการรื้อถอนอาคารให้โจทก์รับได้กึ่งหนึ่งเมื่อนำโฉนดที่ดินที่อาคารพิพาทตั้งอยู่ไปแสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางและอีกกึ่งหนึ่งจะรับได้ต่อเมื่อรื้อถอนอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์ได้ติดต่อสำนักงานที่ดินเขตพระโขนงเพื่อขอรังวัดแบ่งเวนคืนแต่สำนักงานที่ดินยังจดทะเบียนเป็นทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกไม่เสร็จ โจทก์จึงยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดิน ที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับตารางวาละ82,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องจ่ายเพิ่มให้โจทก์อีกจำนวน 7,524,000บาท และโจทก์ขอเรียกค่าทดแทนการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1,180,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 13,135,878.22 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 8,704,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ฟ้องเรียกเงินส่วนที่เห็นว่าควรจะได้รับเพิ่มขึ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่6 พฤษภาคม 2530 อันเป็นวันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และจำเลยที่ 2 เห็นว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพียงเล็กน้อย มีที่ดินเหลืออยู่ทำประโยชน์ได้มากจึงกำหนดค่าทดแทนตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2514 ตารางวาละ 6,000 บาท เป็นราคาที่สมควรและยุติธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนที่ดินกับค่ารื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์จำนวน 1,466,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 5,940,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคดีขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้วางเงินค่าทดแทนต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี นั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง ได้กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์เรียกร้องเงินส่วนที่ตนเห็นว่าควรจะได้รับภายในหนึ่งปีนับแต่วันรับเงินค่าทดแทนหรือนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์วางเงินค่าทดแทนต่อศาลแล้วแต่กรณี ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 วางเงินโดยมีเงื่อนไขทำให้โจทก์ยังไม่ได้รับเงินทั้ง ๆ ที่ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ในท้องที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่แขวงตลาดพลู แขวงบุคคโล เขตธนบุรี แขวงคลองเตย เขตพระโขนงแขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง แขวงลาดยาวเขตบางเขน และแขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2526กำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนไว้ อันมีผลให้กรรมสิทธิ์โอนไปด้วยอำนาจกฎหมาย โดยไม่จำต้องทำการแบ่งแยกโฉนด เมื่อโจทก์ไม่สามารถรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำไปวางไว้ต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางในคราวเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าได้มีการวางเงินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ระยะเวลาหนึ่งปีจึงยังไม่เริ่มนับ โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ได้
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์สูงเกินไป ไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295เรื่องทางหลวงข้อ 76(2) นั้น เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงไว้ในข้อ 76 ว่า”เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้
(1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น
(2) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น
(3) ในวันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใช้บังคับ ในกรณีที่ได้ตราพระราชบัญญัติเช่นว่านั้น” คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 คือพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกฯ พ.ศ. 2526 ไม่มีบทบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับเงินค่าทดแทน แต่ปรากฏว่าได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2524 และจำเลยที่ 1 ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยใช้ราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2514 ของกรมที่ดินมาบังคับ ศาลฎีกาเห็นว่า ราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับ เพราะได้ความว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับถนนอโศก ซึ่งห่างถนนสุขุมวิทประมาณ 50 เมตร ฝั่งตรงข้ามเป็นตลาดอโศก ในปี2524 ที่ดินในละแวกเดียวกับที่ดินโจทก์ คือแปลงใกล้ถนนสุขุมวิทมีการซื้อขายกันตารางวาละ 100,000 บาท แปลงที่อยู่ใกล้ถนนอโศกซื้อขายกันตารางวาละ 85,000 บาท ฉะนั้น ในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์ก็น่าจะมีราคาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2514 เพียงตารางวาละ 6,000 บาทนั้น เห็นได้ว่าต่ำกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้จำเลยที่ 1 ใช้แก่โจทก์ตารางวาละ 60,000 บาท จึงถูกต้องและเหมาะสมแล้วฎีกาของของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share