แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้รับเงินบำเหน็จซึ่งโจทก์คำนวณจ่ายให้ตามระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2536 แต่มีมติคณะรัฐมนตรีให้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ทำให้สิทธิของจำเลยที่จะได้รับเงินบำเหน็จต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ต้องคำนวณเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเงินบำเหน็จส่วนต่างที่โจทก์จ่ายเกินไปเพราะการคำนวณตามระเบียบเดิมที่จำเลยได้รับไปย่อมเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 อายุความในการฟ้องเรียกให้คืนเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายเกินไปและต้องคืนเป็นจำนวนเท่าใดย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้ กรณีมิใช่จำเลยได้ยึดถือเงินบำเหน็จส่วนที่เกินไว้ โดยไม่มีสิทธิอันจะทำให้โจทก์สามารถติดตามเอาคืนได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
จำเลยเป็นผู้มีเงินได้จากการได้รับเงินบำเหน็จที่โจทก์ให้จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยป. รัษฎากร มาตรา 50 กำหนดให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างต้องหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายแล้วนำส่งกรมสรรพากร หากโจทก์หักและนำส่งภาษีเงินได้ไปเกินกว่าที่จำเลยผู้มีเงินได้ต้องชำระ จำเลยผู้มีเงินได้ก็มีสิทธิไปขอเงินส่วนที่จ่ายเกินไปคืนจากกรมสรรพากรได้ โจทก์ไม่มีสิทธิไปขอคืน จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จส่วนที่รับไปเกินสิทธิให้แก่โจทก์เต็มจำนวนโดยไม่อาจนำจำนวนเงินภาษีเงินได้ที่โจทก์หักไว้ ณ ที่จ่ายมาหักออกได้
ย่อยาว
คดีทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยตามลำดับสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 32
โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนฟ้องในทำนองเดียวกันขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 26 ชำระเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายผิดพลาดไป พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 และบังคับจำเลยที่ 27 ถึงที่ 32 ร่วมกันชำระเงินบำเหน็จจำนวน 305,660 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 21 และจำเลยที่ 23 ถึงจำเลยที่ 26 ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 22 ขาดนัด
จำเลยที่ 27 ถึงที่ 32 ให้การร่วมกันขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางกิติมา ภริยาจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน และจำเลยที่ 12 ถึงแก่กรรม นางอุบล ภริยาจำเลยที่ 12 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนและระยะเวลาทำงานของจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกเพิ่มเติม แล้วพิพากษาในประเด็นข้อ 1 เฉพาะที่ว่าจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามมติคณะรัฐมนตรีคนละเท่าใด และพิพากษาในประเด็นข้อ 2 ถึงข้อ 4 ต่อไปตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ 22 คืนเงินบำเหน็จจำนวน 285,940 บาท โดยให้นำจำนวนเงินภาษีเงินได้ที่โจทก์หักไว้ ณ ที่จ่าย มาหักออกจากจำนวนเงินบำเหน็จข้างต้นก่อน และให้คืนเงินบำเหน็จดังกล่าวเพียงจำนวนที่จำเลยที่ 22 ยังมีอยู่ในขณะที่โจทก์เรียกคืน (วันที่ 1 มิถุนายน 2539) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 21 และจำเลยที่ 23 ถึงที่ 32
โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 17 ที่ 20 ที่ 23 และที่ 25 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอก รับไปเกินสิทธิเพราะความผิดหลงคลาดเคลื่อนของโจทก์ มิใช่เป็นการได้รับทรัพย์ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงมิใช่กรณีลาภมิควรได้ ไม่อยู่ในบังคับอายุความของบทกฎหมายในเรื่องลาภมิควรได้ และโจทก์มีสิทธิติดตามเอาเงินบำเหน็จที่จ่ายเกินไปคืนได้ทั้งหมดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชน์ มาตรา 1336 นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกได้รับเงินบำเหน็จซึ่งโจทก์คำนวณจ่ายให้ตามระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วย กองทุนบำเหน็จ พ.ศ.2536 แต่เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีให้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ทำให้สิทธิของจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกที่จะได้รับเงินบำเหน็จต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ต้องคำนวณจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น เงินบำเหน็จในส่วนต่างที่โจทก์จ่ายเกินไปอันเกิดจากการคำนวณตามระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ว่าด้วย กองทุนบำเหน็จ พ.ศ.2536 ที่จำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกได้รับจากโจทก์ ย่อมเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจึงเป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ดังนั้น อายุความในการฟ้องเรียกให้คืนเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายเกินไปและจะต้องคืนกันเป็นจำนวนเท่าใดย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติในเรื่องลาภมิควรได้ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา กรณีมิใช่จำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกได้ยึดถือเงินบำเหน็จส่วนที่เกินไว้โดยไม่มีสิทธิอันจะทำให้โจทก์สามารถติดตามเอาคืนได้ทั้งหมดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกเป็นการทำแทนรัฐ ถือว่าจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกเป็นผู้จ่ายภาษีเงินได้ให้แก่รัฐ หากจ่ายเกินไปจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกก็มีสิทธิไปขอคืนได้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการคืนเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายเกินไปให้แก่โจทก์ต้องนำภาษีเงินได้ที่โจทก์หักไว้ ณ ที่จ่ายมาหักออกจากเงินบำเหน็จที่ต้องคืนก่อน จึงไม่ชอบนั้นพิเคราะห์แล้ว เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นดังวินิจฉัยมาแล้ว คดีนี้เฉพาะจำเลยที่ 22 เท่านั้น ที่ต้องคืนเงินบำเหน็จแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงจะวินิจฉัยแต่เฉพาะกรณีของจำเลยที่ 22 เท่านั้น ส่วนกรณีของจำเลยอื่นและนายจอกไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป เห็นว่า จำเลยที่ 22 เป็นผู้มีเงินได้จากการได้รับเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายให้ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยประมวลรัษฎากร มาตรา 50 กำหนดให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างต้องหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายแล้วนำส่งกรมสรรพากร หากโจทก์หักและนำส่งภาษีเงินได้ไปเกินกว่าที่จำเลยที่ 22 ผู้มีเงินได้จะต้องชำระ จำเลยที่ 22 ผู้มีเงินได้ก็ย่อมมีสิทธิไปขอเงินส่วนที่จ่ายเกินไปคืนจากกรมสรรพากรได้โดยโจทก์ไม่มีสิทธิไปขอคืน ดังนั้น จำเลยที่ 22 จึงต้องคืนเงินบำเหน็จส่วนที่รับไปเกินสิทธิให้แก่โจทก์เต็มจำนวนโดยไม่อาจนำจำนวนเงินภาษีเงินได้ที่โจทก์หักไว้ ณ ที่จ่ายมาหักออกได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ต้องนำจำนวนเงินภาษีเงินได้ที่โจทก์หักไว้ ณ ที่จ่าย ในส่วนของจำเลยที่ 22 มาหักออกจากจำนวนเงินบำเหน็จที่จำเลยที่ 22 ต้องชำระคืนแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.