คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5465/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติถึงกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นและมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตาม มาตรา 10ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์2536 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยทั้งสี่จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 10 มิถุนายน 2536 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม เมื่อเป็นกรณีมีวันที่ต้องมีการจ่ายแล้ววันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าว ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งแปลง คณะกรรมการกำหนดราคาค่าทดแทนไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เพราะที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ในบริเวณย่านธุรกิจการค้า โรงแรม และสถานที่ราชการหลายแห่งและสามารถออกสู่ถนนรัชดาภิเษก ถนนเทียมร่วมมิตร ถนนพระราม 9ได้อย่างสะดวก และมีสาธารณูปโภคครบถ้วน ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 2,936 ตารางวา คิดเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 469,760,000 บาทโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนมาแล้วจำนวน 58,720,000 บาท จำเลยทั้งสี่จึงต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์อีกจำนวน 411,040,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินถึงวันฟ้องแต่โจทก์ขอคิดเพียง 1 ปี คิดเป็นดอกเบี้ย 41,104,000 บาทขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 452,144,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จากต้นเงิน 411,040,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีสภาพทำเลและที่ตั้งไม่เหมาะสมสำหรับทำธุรกิจ การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ ในราคาตารางวาละ20,000 บาท โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21, 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2535 ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 58,720,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินต้น 58,720,000 บาท แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่ต้องชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นแก่โจทก์ในอัตราเท่าใดและนับแต่เมื่อใดจำเลยทั้งสี่อ้างว่า จำเลยทั้งสี่ควรชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปีมิใช่ให้จำเลยทั้งสี่ชำระในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23กุมภาพันธ์ 2536 ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เห็นว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย” ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์2536 ตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยทั้งสี่จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 10 มิถุนายน 2536อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสามเมื่อเป็นกรณีมีวันที่ต้องมีการจ่ายแล้ววันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปีเพราะฎีกาของโจทก์มิได้ขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ย 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่10 มิถุนายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share