คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการหล่อโลหะและหล่อพระพุทธรูปมานานถึง 20 ปี น่าจะรู้ว่าพระของกลางเป็นรูปหล่อโลหะเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื้อโลหะเก่ามีลักษณะแตกต่างจากโลหะที่หล่อใหม่อย่างเห็นได้ชัด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นำไปทาน้ำยาฝังดินเพื่อให้เกิดสนิมทำให้ดูเป็นของเก่าจึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงพระของกลางมีราคาถึง 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้ในราคาเพียง 15,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำตัวผู้ขายมาเบิกความต่อศาลสนับสนุนข้อต่อสู้ของตนได้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อพระของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร โจทก์ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ มิได้ขอให้ศาลริบของกลางดังกล่าว ศาลย่อมริบของกลางนั้นไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรกและสมควรคืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของตามที่โจทก์ขอ พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ล้างมลทินให้แก่จำเลยที่ 3และที่ 4 ซึ่งต้องคำพิพากษาและพ้นโทษไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 93, 335, 335 ทวิ วรรคสอง, 336 ทวิ, 357เพิ่มโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 23,000 บาทแก้ผู้เสียหายและคืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 4ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร และจำเลยที่ 3 ที่ 4 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาวัดไชโยวรวิหาร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม จำคุก 10 ปีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุกคนละ 16 ปีเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93(13)คนละกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 มีกำหนดคนละ 24 ปีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คนละกึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี จำเลยที่ 3 ที่ 4 มีกำหนดคนละ12 ปี ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 23,000 บาท แก่ผู้เสียหาย รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบ คำขออื่นให้ยกและยกฟ้องจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่โจทก์มีพันตำรวจตรีประภาส ปิยะมงคล ผู้จับกุมจำเลยที่ 1เบิกความว่า พยานสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อรูปหล่อพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ของกลางไว้ จึงไปจับจำเลยที่ 1 ที่บ้านเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2535 จำเลยที่ 1รับว่าได้รับซื้อพระของกลางไว้ และขุดพระของกลางจากที่ฝังไว้ในบริเวณบ้านของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 นำพระของกลางใส่ถุงพลาสติกฝังไว้ใต้กรงนกหลังบ้านเทคอนกรีตปิดทับในลักษณะปิดบังซ่อนเร้น และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมบอกว่าได้รับซื้อพระของกลางจากผู้ใด จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1รับซื้อพระของกลางซึ่งเป็นรูปหล่อโลหะจากนายสมศักดิ์ไม่ทราบนามสกุล ในราคา 15,000 บาท และนำไปทาน้ำยาบรรจุในถุงพลาสติกฝังไว้เพื่อให้เกิดสนิมทำให้ดูเป็นของเก่านั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการหล่อโลหะและหล่อพระพุทธรูปมานานถึง20 ปี จึงน่าจะรู้ว่าพระของกลางเป็นรูปหล่อโลหะเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื้อโลหะเก่ามีลักษณะแตกต่างจากโลหะที่หล่อใหม่อย่างเห็นได้ชัด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1นำไปทาน้ำยาฝังดินเพื่อให้เกิดสนิมทำให้ดูเป็นของเก่าจึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงพระของกลางมีราคาถึง 300,000 บาทแต่จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้ในราคาเพียง 15,000 บาท เท่านั้นและจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำตัวผู้ขายมาเบิกความต่อศาลสนับสนุนข้อต่อสู้ของตนได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1รับซื้อพระของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดให้ริบนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ มิได้ขอให้ศาลล่างริบของกลางดังกล่าว ศาลย่อมริบของกลางนั้นไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก และสมควรคืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของตามที่โจทก์ขอและที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 กึ่งหนึ่ง เพราะจำเลยที่ 3เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 3 ปี ฐานลักพระพุทธรูป ตามคดีหมายเลขแดงที่ 989/2532 ของศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 4เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1145/2532ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ล้างมลทินให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4ซึ่งต้องคำพิพากษาดังกล่าว และได้พ้นโทษไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4จำคุกคนละ 16 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 8 ปีไม่ริบรถยนต์ของกลาง ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share