คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5434/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีของผู้ร้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท และต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าคดีผู้ร้องมีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าวผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้หรือไม่เท่านั้นการที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องรับรองและมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้อง จึงเป็นการสั่งโดยหลงผิดและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของผู้ร้องว่าจะรับรองหรือไม่ แล้วดำเนินการต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 3824 ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว
ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยเพียง 2 งาน 18.5 ตารางวา ส่วนที่เหลือคือที่พิพาทเป็นของผู้ร้องที่ 1 เนื้อที่ 1 งาน 42.5 ตารางวา เป็นของผู้ร้องที่ 2 กับนายประสิทธิ์ สิมสวนและนายสมนึก สิมสวน รวมกันเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 26.5 ตารางวา และเป็นของผู้ร้องที่ 3 เนื้อที่ 1 งาน 89 ตารางวา โดยต่างครอบครองเป็นสัดส่วนตามที่นายมิ่ง สิมสวนบิดาและนางแก้ว มารดาแบ่งแนวเขตไว้ให้ เดิมที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่นาเนื้อที่ 61 ไร่ ของนายเพ็ง สิมสวน และนางอ่อน สิมสวน เมื่อนายเพ็งและนางอ่อนตาย นายมิ่งนายบัว สิมสวน และนายโฮม สิมสวน รับมรดกโดยได้แบ่งแนวเขตที่ดินกันไว้ แต่ให้ใส่ชื่อนายบัวเป็นผู้รับมรดกไว้แทน เมื่อนายมิ่ง และนายบัวตาย ทายาทของนายบัวรับมรดกแล้วแบ่งที่นาและที่ปลูกบ้านออกตามส่วนโดยให้นายโฮมรับส่วนของนายโฮม ทายาทของนายบัวได้รับส่วนของนายบัวและทายาทของนายมิ่ง ได้รับส่วนของนายมิ่งแต่ให้จำเลยรับโอนที่พิพาทไว้แทนทายาทของนายมิ่งซึ่งยังไม่ได้รับส่วนแบ่งคือผู้ร้องทั้งสามกับนายประสิทธิ์และนายสมนึก ส่วนของนายประสิทธิ์กับนายสมนึกรวมอยู่กับผู้ร้องที่ 2 จำเลยจึงไม่มีสิทธินำที่พิพาทไปขายฝากแก่โจทก์ ผู้ร้องทั้งสามอยู่ในที่พิพาท โดยครอบครองตามส่วนของตนโดยชอบ บ้านเลขที่ 176 เป็นของผู้ร้องที่ 2 กับพวก โรงสีในที่พิพาทเป็นมรดกของนายมิ่งตกทอดแก่ทายาททุกคน ขอให้สั่งว่าผู้ร้องทั้งสามไม่ใช่บริวารของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่ผู้ร้องทั้งสามออกจากที่พิพาท และสั่งห้ามโจทก์และจำเลยเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสามเข้ามาอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลย จำเลยได้ขายฝากที่ดินตามฟ้องพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวไว้แก่โจทก์และไม่ไถ่คืน จึงตกเป็นกรรมสิทธิของโจทก์หลังจากนั้นจำเลยได้ทำสัญญาเช่าจากโจทก์เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งผู้ร้องทั้งสามทราบดี ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านเมื่อโจทก์ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท ผู้ร้องทั้งสามก็ทราบเรื่อง แต่หาได้คัดค้านหรือเข้ามาในคดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขับไล่ผู้ร้องทั้งสามจึงยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าของที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างเป็นการประวิงการบังคับคดีของโจทก์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ที่พิพาทสำหรับคดีในส่วนของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ที่อ้างมาในคำร้องว่าเป็นของตนนั้นมีราคาไม่เกิน 50,000บาท และอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ดังนี้ คดีในส่วนของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 14 อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 1และที่ 3 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ ผู้ร้องที่ 1และที่ 3 จึงยื่นคำร้องร่วมกับผู้ร้องที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีรับรองว่า คดีผู้ร้องทั้งสามมีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามคำร้องลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2535ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “คดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องรับรอง” และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสามคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกา สำหรับคดีในส่วนของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ก่อนว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวถือได้ว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่าคดีผู้ร้องที่ 1 และที่ 3มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาทและต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ผู้ร้องที่ 1 และที่ 3ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าคดีผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่า มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้หรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่ต้องรับรองและมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสาม จึงเป็นการสั่งคดีในส่วนของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 โดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งแล้ว และแม้ต่อมาในชั้นฎีกาผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องร่วมกับผู้ร้องที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ตามคำร้องลงวันที่26 พฤศจิกายน 2536 และผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับรองว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้และมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ร้องทั้งสามก็ตามก็เป็นการสั่งคดีในส่วนของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 โดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีเช่นกัน ผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) และมาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องที่ 2 ว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามฟ้องตามแปลงหมายเลข 2 ในแผนที่พิพาทหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามฟ้องตามแปลงหมายเลข 2 ในแผนที่พิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องในส่วนของผู้ร้องที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่เกี่ยวกับผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 และเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ว่า”คดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องรับรอง” และให้ยกคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 เสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ว่าจะรับรองหรือไม่แล้วดำเนินการต่อไปให้ยกฎีกาของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share