คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5433/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ก็ยังซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ก็รู้เช่นเดียวกันแล้วยังรับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 แสดงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและจำนองได้ตามป.พ.พ. มาตรา 237 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงไว้แล้วว่า จำเลยทั้งสี่สมคบกันทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินและจำนองที่ดินโดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ และมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสี่ไว้ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย และพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและจำนองที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสี่ได้.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกนางสอิ้ง หรือสอิ้งมาศ นราภิรักษ์ เป็นจำเลยที่ 1 นางสุกัญญา ครามะคำเป็นจำเลยที่ 2 พันเอกสุวิช ครามะคำ เป็นจำเลยที่ 3 และธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นจำเลยที่ 4
คดีทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 58127, 58128 และ 58129 แขวงลาดยาว เขตบางเขนกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ในราคา 5,500,000 บาท โจทก์ได้วางมัดจำในวันทำสัญญาและชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 อีกบางส่วน แต่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 58127 และ 58129 แก่จำเลยที่2 กับจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 58128 แก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำนองที่ดินทั้งสามแปลงแก่จำเลยที่ 4 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาจะขายไว้กับโจทก์และโจทก์ก็ได้อายัดที่ดินไว้แล้ว ขอศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวน 5,385,812.75 บาท จากโจทก์พร้อมกับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินทั้งสามโฉนดดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ให้การทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนการซื้อขายถูกต้องตามกฎหมายโจทก์ไม่อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนอันจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ได้รับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยสุจริต มีค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายเข้ามาใหม่ภายในอายุความ
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวน5,385,812.75 บาท พร้อมกับทำการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่58127, 58128 และ 58129 แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 18 และ 19 ธันวาคม 2527 กับให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสามแปลดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 ที่ 3กับจำเลยที่ 4 ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2527
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แล้วยังซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ก็รู้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วยังรับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 2 และที่3 แสดงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แม้โจทก์จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรายนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ดังที่จำเลยทั้งสี่อ้างก็ตามแต่ตามฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายข้อเท็จจริงไว้ครบถ้วนแล้วว่า จำเลยทั้งสี่อ้างก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายข้อเท็จจริงไว้ครบถ้วนแล้วว่า จำเลยทั้งสี่สมคบกันทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินและจำนองที่ดินโดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ และได้มีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายและจำนองระหว่างจำเลยทั้งสี่ไว้ด้วยแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นจำเลยในคดีสำนวนแรก จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในสำนวนคดีแรกแทนโจทก์ ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาในข้อนี้มานั้นฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแต่ละสำนวนใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวมสำนวนละ 40,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share