แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้รับจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่21 กุมภาพันธ์ 2528 ซึ่งในวันนั้นถือว่าเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีที่โจทก์อ้างว่าเป็นลูกหนี้ในวันที่ 25 มีนาคม 2535จึงเกิน 2 ปี ย่อมขาดอายุความ ตามที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 ไม่ว่าจำเลยที่ 3จะมีหนังสือส่งคำบอกกล่าวเป็นจดหมายลงทะเบียนแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 3 ตามมาตรา 1253(2) หรือไม่ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 551,191.20 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 344,497 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จ การชำระบัญชีจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า ได้มีการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเลิกห้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่21 กุมภาพันธ์ 2528 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม2535 เกินกว่าสองปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ทั้งจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2526 อันเป็นวันจดทะเบียนเลิกห้างจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้ชำระบัญชีเสร็จเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2528 ต่อมาได้จดทะเบียนเลิกห้างและชำระบัญชีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2528โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535เกินสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 ทั้งจำเลยที่ 3เป็นเพียงผู้ชำระบัญชีซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีชื่อเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ในสมุดบัญชีหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องบอกกล่าวการชำระบัญชีเลิกห้างไปให้โจทก์ทราบทั้งการจดทะเบียนเลิกห้างจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยถูกต้องแล้ว โดยจำเลยที่ 3 ได้แสดงให้เห็นความเป็นไปของบัญชีที่ชำระโดยเปิดเผยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนและเจ้าหนี้ทั้งหลายด้วยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เสียงใต้ ฉบับวันที่ 16 และ 20 ธันวาคม 2526ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความนำสืบมาและไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชี เมื่อวันที่21 กุมภาพันธ์ 2528 ตามสำเนาหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดระนองเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าปรับตามสัญญาทำไม้หวงห้ามระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่อศาลเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม2535 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นข้อแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 บัญญัติไว้ว่า”ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นหรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดระยองได้รับจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2528ซึ่งในวันนั้นถือว่าเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชี ที่โจทก์อ้างว่าเป็นลูกหนี้ในวันที่ 25 มีนาคม 2535 จึงเกิน 2 ปี ย่อมขาดอายุความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1272 ดังกล่าว ไม่ว่าจะได้ความตามที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 มิได้มีหนังสือส่งคำบอกกล่าวเป็นจดหมายลงทะเบียนแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1253(2) หรือไม่ก็ตาม
พิพากษายืน