คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรที่ผู้ตายรับรองจึงเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ที่จำเลยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยนั้น ตามสภาพปกติธรรมดาของสังคมไทยย่อมต้องการให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรหลาน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ประกอบมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้สืบสันดานซึ่งหมายถึงบุตรหลานเป็นทายาทลำดับที่ 1 โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะผู้สืบสันดาน ส่วนจำเลยจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และจำเลยยังให้การว่า ขณะผู้ตายทำพินัยกรรมผู้ตายยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่โรงพยาบาล พ. การทำพินัยกรรมจึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลย โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ต้องพิสูจน์เพียงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 คือโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกก่อนผู้ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และพินัยกรรมที่อ้างว่าผู้ตายทำขึ้นที่โรงพยาบาลภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เรือนจำรวมทั้งแพทย์และพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นกรณีผิดปกติวิสัย ดังนี้ จำเลยจึงมีภาระพิสูจน์ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ใช่เอกสารปลอม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2554 ของนายพนม เป็นพินัยกรรมปลอมเป็นโมฆะ และมีคำสั่งให้ทำลายพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินเลขที่ 30362, 88182, 95353, 95356 และ 95357 ตำบลลำผักกูด อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จากชื่อนางสางสุนทรี (ผู้จัดการมรดกนายพนม) กลับมาเป็นชื่อของนายพนม และให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับวันที่ 16 มกราคม 2554 ของนายพนม ไม่มีผลใช้บังคับและให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินเลขที่ 95356, 95357 และ 88182 ตำบลลำผักกูด อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จากชื่อนางสาวสุนทรี (ผู้จัดการมรดกนายพนม) กลับมาเป็นชื่อของนายพนม และให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินทั้งสามฉบับแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 5,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้เสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์หนึ่งในสี่ของค่าธรรมเนียมทั้งหมด
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้เสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาหนึ่งในห้าของค่าธรรมเนียมทั้งหมด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า โจทก์เป็นบุตรของนายพนม กับนางศรีนวล โดยบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นายพนมได้รับรองแล้วว่าโจทก์เป็นบุตร และโจทก์มีน้องสาวร่วมบิดาเดียวกันแต่ต่างมารดาอีก 1 คน ชื่อ นางสาวนรินทร ก่อนที่จะถึงแก่ความตายนายพนมต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลในความผิดฐานปล้นทรัพย์และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2554 นายพนมถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุภูมิคุ้มกันบกพร่องขณะที่ยังต้องขังอยู่ นายพนมผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 5 แปลง ตั้งอยู่ที่ตำบลลำผักกูด อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 95353 เนื้อที่ 71 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 95356 เนื้อที่ 71 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 95357 เนื้อที่ 72 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 88182 เนื้อที่ 59 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 30362 เนื้อที่ 13 ไร่ 44 ตารางวา นายพนมมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 8 คน โดยนายพนมเป็นพี่คนโต จำเลยเป็นน้องสาวของนายพนมและเป็นอาของโจทก์ หลังจากนายพนมถึงแก่ความตาย จำเลยนำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2554 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยอ้างว่าเป็นพินัยกรรมของนายพนมเพื่อให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินทั้งห้าแปลงข้างต้น จากชื่อของนายพนมเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพนม ในพินัยกรรมดังกล่าวจัดพิมพ์ข้อความเป็นตัวอักษรมีใจความว่า ทำที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา นายพนมขอทำพินัยกรรมไว้ว่าเมื่อนายพนมถึงแก่ความตายแล้ว ให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกดำเนินการทรัพย์สินดังกล่าวแทนดังต่อไปนี้ ที่ดินโฉนดเลขที่ 95356 ยกให้นายนพรัตน์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 95353 ยกให้นางสาวอรพรรณ ที่ดินโฉนดเลขที่ 95357 และ 88182 ยกให้จำเลย นางสาวสินธิ์ นางสาวอรพรรณ นายเสน่ห์ นายจิรพงศ์ และนายนพรัตน์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 30362 ยกให้โจทก์ 2 ไร่ ยกให้นางสาวนรินทร 2 ไร่ คงเหลือเนื้อที่ 9 ไร่ 44 ตารางวา ยกให้จำเลย นางสาวสินธิ์ นางสาวอรพรรณ นายเสน่ห์ นายจิรพงศ์ และนายนพรัตน์ ตอนท้ายของพินัยกรรมมีลายมือชื่อที่ระบุว่า พนม ผู้ทำพินัยกรรม มีลายมือชื่อที่ระบุว่า แตง พยาน และมีลายมือชื่อระบุว่า นายอุทัย พยานและพิมพ์และเขียน ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2555 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95353 ให้แก่นางสาวอรพรรณ และวันที่ 29 มีนาคม 2556 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 30362 ให้แก่นางสาวนรินทร
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า ภาระพิสูจน์ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทปลอมตามข้อกล่าวอ้างในคำฟ้องของโจทก์ตกอยู่กับโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามฟ้องและคำให้การจำเลยว่า โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายพนมรับรองว่าเป็นบุตร และมีนางสาวนรินทรน้องสาวร่วมบิดาเดียวกันอีกหนึ่งคน ส่วนจำเลยและทายาทอื่นที่จำเลยอ้างว่านายพนมยกทรัพย์ให้โดยพินัยกรรมนั้นมีฐานะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาของนายพนมซึ่งสภาพปกติธรรมดาของสังคมไทยย่อมต้องการให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรหลาน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ประกอบมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้สืบสันดานซึ่งหมายถึงบุตรเป็นทายาทลำดับที่ 1 โจทก์และนางสาวนรินทรในฐานะทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายพนมในฐานะผู้สืบสันดาน ส่วนจำเลยและผู้ที่ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย จำเลยยังให้การว่าขณะที่จำเลยอ้างว่านายพนมทำพินัยกรรมฉบับที่พิพาท นายพนมอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่เรือนจำหรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่จำเลยอ้างว่านายพนมทำพินัยกรรมที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยารับรองเป็นหลักฐานตามที่จำเลยอ้าง การทำพินัยกรรมอยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายจำเลย โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ต้องพิสูจน์เพียงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข แห่งการที่โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 คือโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกก่อนผู้ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และพินัยกรรมที่อ้างว่านายพนมทำขึ้นที่โรงพยาบาลภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของบุคคลดังกล่าวรวมทั้งแพทย์และพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นกรณีผิดปกติวิสัย ดังนี้ จำเลยจึงมีภาระพิสูจน์ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ใช่เอกสารปลอม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทปลอมหรือไม่ เห็นว่า ตามประเด็นข้อแรกโจทก์นำสืบว่า ก่อนนายพนมถึงแก่ความตายโจทก์ไปเยี่ยมนายพนมที่เรือนจำพระนครศรีอยุธยา นายพนมแจ้งว่าโฉนดที่ดินทั้งห้าแปลงสูญหายไป หากพ้นโทษจะไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ และพินัยกรรมที่จำเลยอ้างไม่มีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรับรอง ซึ่งเป็นเอกสารปลอม ส่วนจำเลยซึ่งมีภาระพิสูจน์นำสืบว่า ไม่เคยทราบมาก่อนว่านายพนมทำพินัยกรรม ภายหลังนายพนมถึงแก่ความตาย 1 วัน นายอุทัย ญาติของจำเลยนำพินัยกรรมฉบับพิพาทมามอบให้จำเลย จำเลยจำได้ว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมเป็นของนายพนมแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายพนม โดยจำเลยไม่นำนายอุทัยและพยานในพินัยกรรมมาเบิกความยืนยันว่า นายพนมทำพินัยกรรมฉบับพิพาทจริงตามภาระพิสูจน์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทนายพนมไม่ได้ทำขึ้นและเป็นพินัยกรรมปลอม และที่จำเลยขอให้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานปากนายอุทัยและนางแตงพยาน ผู้พิมพ์และเขียนพินัยกรรมพิพาทนั้น เห็นว่า จำเลยไม่นำพยานดังกล่าวเข้าสืบตามที่ตนมีภาระการพิสูจน์ จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งให้สืบพยานดังกล่าวอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาในประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สามว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างว่านายพนมทำขึ้นเป็นพินัยกรรมปลอมแล้วจำเลยไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินโอนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพนมไปให้บุคคลอื่นเป็นการกระทบและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานของนายพนม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามข้อต่อสู้ของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share