แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในคดีนี้ และรถจักรยานยนต์ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฏโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ได้รับมาคนละคราว จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 3 ได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวไว้ในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันรับของโจรเพียงกรรมเดียว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรีแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 357
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร แต่ต่อสู้ว่าเป็นกรรมเดียวกับคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า มีคนร้ายเข้าไปลักเอารถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กจก นนทบุรี 395 ของนายบุญเลิศ ผู้เสียหาย ซึ่งจอดอยู่ในสมชายคอนโดมิเนียมอันเป็นเคหสถาน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสี่กับพวกพร้อมยึดได้รถจักรยานยนต์ 5 คัน ซึ่งรวมทั้งรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย และทรัพย์สินอื่นเป็นของกลาง โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนหรือรับของโจร และฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกันเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันรับของโจร ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4, จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุด ส่วนจำเลยที่ 3 ฎีกา โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 กับพวกในข้อหาซ่องโจร จำเลยที่ 3 รับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้รับโทษมาครบแล้ว ตามคดีหมายเลขดำที่ 3281/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 9091/2544 ของศาลจังหวัดนครปฐม ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรและศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานรับของโจร ตามคดีหมายเลขดำที่ 1980/2546 และคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ยกฟ้อง
มีปัญหาวินิจฉัยตามข้อกฎหมายของจำเลยที่ 3 ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 1980/2546 คดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี และคดีหมายเลขดำที่ 3281/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 9091/2544 ของศาลจังหวัดนครปฐมหรือไม่ ซึ่งเห็นควรวินิจฉัยคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี ก่อน เห็นว่า รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในคดีนี้และรถจักรยานยนต์ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฎโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ได้รับมาคนละคราว จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 3 ได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันรับของโจรเพียงกรรมเดียว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรีแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 ต่อไป อนึ่ง เนื่องจากเป็นเหตุลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิจารณาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันรับของโจรในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียด้วย