คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5410/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ต้องการให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย โดยให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นได้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลดังกล่าวโดยเป็นตัวการด้วยกัน ตาม ป.อ. มาตรา 83 แต่ความเป็นนิติบุคคลของบริษัทจำเลยที่ 1 นั้น เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากความเป็นบุคคลของจำเลยที่ 2 ที่มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด กล่าวคือ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเท่านั้น ดังนั้น แม้บทบัญญัติมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะบัญญัติให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมมีหนังสือมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น กรณีจึงไม่มีผลที่จะให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้รับผิดในฐานที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
แม้ว่าในขณะที่ไปร้องทุกข์ดังกล่าวโจทก์ร่วมยังไม่รู้จักชื่อกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าเป็นจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ร่วมก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่ระบุตำแหน่งไว้ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ , ๖ , ๑๐ , ๑๗ , ๒๗ , ๓๑ , ๖๙ , ๗๐ , ๗๔ , ๗๕ และ ๗๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๗ (๑) และ ๖๙ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑ ปี และปรับจำเลยทั้งสองคนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงสถานะ อายุ และอาชีพแล้ว เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ ๒ กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากจำเลยที่ ๒ ไม่ชำระค่าปรับ ให้กักขังแทนเป็นระยะเวลา ๒ ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์ของโจทก์ร่วมโดยทำซ้ำเพื่อการค้าตามฟ้อง แต่โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ จึงขาดอายุความ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า แม้ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ต้องการให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย โดยให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นได้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลดังกล่าวโดยเป็นตัวการด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ อันเป็นเจตนารมณ์ที่แตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั่ว ๆ ไป ดังเช่นที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม แต่ความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ นั้น เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากความเป็นบุคคลของจำเลยที่ ๒ ที่มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ ๑ ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด กล่าวคือ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ดังนั้น แม้บทบัญญัติมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ จะบัญญัติให้ถือว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลจำเลยที่ ๑ ด้วยก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำผิดดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เมื่อโจทก์ร่วมมีหนังสือมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ เท่านั้น กรณีจึงไม่มีผลที่จะให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ เพื่อให้รับผิดในฐานที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย แม้ว่าในขณะที่ไปร้องทุกข์ดังกล่าวโจทก์ร่วมยังไม่รู้จักชื่อกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ว่าเป็นจำเลยที่ ๒ นี้ แต่โจทก์ร่วมก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่กรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ โดยเพียงแต่ระบุตำแหน่งไว้ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามไว้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ ภายในอายุความแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share