คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5404/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่า การนำสืบของผู้คัดค้านยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้ที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทภายในเส้นสีเขียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก มีผลเป็นการยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 2 ไปด้วย เมื่อผู้ร้องที่ 2 ไม่อุทธรณ์ได้แต่แก้อุทธรณ์และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ดังนั้น ประเด็นในเรื่องที่พิพาทภายในเส้นสีแดงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ 2 หรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องที่ 2 ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาว่าสิทธิในการเป็นทายาทผู้รับมรดกของผู้ร้องที่ 2 ยังคงมีอยู่ต่อไปนั้น เป็นฎีกาในข้อที่นอกเหนือไปจากประเด็นในคำร้องขอของผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาด้วยกันเพื่อความสะดวกให้เรียกนางสีนวล จิตรีเนื่อง และนายจำรัสไตรดารา ว่า ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ และให้เรียกนายสำอางค์หรืออาง สนธิกรณ์ นายสวัสดิ์ ไตรโชค นายสีนวน ไตรผลนายทุม จิตรีหาญ นางสาวการะเวก กุมภาพันธ์ และนายโปร่งสุมนต์ ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6ตามลำดับ
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ผู้ร้องทั้งสองกับผู้คัดค้านทั้งหกต่างยื่นคำร้องและคำคัดค้านว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2551 ตำบลบางไทรอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นของตนตามส่วนที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ก่อนสืบพยานศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทให้คู่ความทุกฝ่ายนำชี้ที่ดินส่วนที่อ้างว่าครอบครองอยู่และเมื่อทำแผนที่พิพาทแล้วคู่ความทุกฝ่ายรับรองว่าถูกต้อง และในวันนัดพร้อมและรับรองแผนที่ ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอถอนคำคัดค้าน ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2551 ตำบลบางไทรอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฉพาะส่วนเนื้อที่ 3 ไร่54 ตารางวาในเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามส่วนที่ผู้คัดค้านครอบครองดังปรากฏตามแผนที่พิพาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาโดยสรุปว่าการนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6ยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสี่ได้ที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
ส่วนฎีกาของผู้ร้องที่ 2 ที่ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งหมด แสดงว่าผู้ร้องที่ 2 เป็นฝ่ายชนะคดี การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องที่ 2ผู้ร้องที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีของผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นอันยุติ อาจทำให้ผู้ร้องที่ 2 ขาดสิทธิในการเข้ารับมรดกในที่พิพาทส่วนที่เหลือนั้นเห็นว่า ผู้ร้องที่ 2 ขอให้ที่พิพาทภายในเส้นสีแดงเป็นของผู้ร้องที่ 2 เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทภายในเส้นสีเขียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก มีผลเป็นการยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 2ไปด้วยหากผู้ร้องที่ 2 เห็นว่า ผู้ร้องที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทภายในเส้นสีแดงดังกล่าว ผู้ร้องที่ 2 จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า วินิจฉัยไม่ถูกต้องอย่างไร แต่ผู้ร้องที่ 2มิได้อุทธรณ์เพียงแก้อุทธรณ์และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฉะนั้นประเด็นในเรื่องที่พิพาทภายในเส้นสีแดงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ 2 หรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ที่ผู้ร้องที่ 2 ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาว่า สิทธิในการเป็นทายาทผู้รับมรดกของผู้ร้องที่ 2 ยังคงมีอยู่ต่อไป จึงเป็นฎีกาในข้อที่นอกเหนือไปจากประเด็นในคำร้องขอของผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
พิพากษายกฎีกาผู้ร้องทั้งสอง คืนค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share