คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5401/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า หลักฐานการใช้เครื่องหมายการค้าไม่ใช่การใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าโดยโจทก์ แต่เป็นการใช้โดยบุคคลอื่น แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม ระบุเพียงว่า ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (1) หรือ (2) หากได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ก็ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ ซึ่งในการพิจารณาความแพร่หลายนี้ กฎหมายไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ใช้เครื่องหมายดังกล่าว ทั้งประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ เมื่อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้สาธารณชนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น จึงรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 171/2549 ที่สั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 466687 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามขั้นตอนการจดทะเบียนต่อไป
จำเลยทั้งเก้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 171/2549 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 466687 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นนี้มีว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสามหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์โต้แย้งว่าหลักฐานการใช้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์นำสืบมานั้นไม่ใช่การใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าโดยโจทก์แต่เป็นการใช้โดยบุคคลอื่น กรณีจึงไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม ระบุเพียงว่า ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม (1) หรือ (2) หากได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้วก็ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ ในการพิจารณาความแพร่หลายดังกล่าวกฎหมายไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ใช้เครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด ทั้งประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่ใช้เครื่องหมายการค้าตามที่จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ด้วย เมื่อโจทก์มีใบกำกับสินค้า ใบกำกับภาษี บัญชีรายงานภาษีการขาย และนิตยสารเกี่ยวกับรถยนต์มานำสืบให้รับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการจำหน่าย เผยแพร่ และโฆษณามาตั้งแต่ปี 2543 โดยมีนายสมชายและนายอภินันท์ พยานโจทก์ซึ่งประกอบกิจการค้าขายอุปกรณ์ล็อกเบรกและคลัชรถยนต์เบิกความยืนยันว่า พยานทั้งสองรู้จักเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และลูกค้าที่มาขอซื้อจะเรียกสินค้าของโจทก์ว่า ล็อกเทค อันแสดงว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้สาธารณชนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น ส่วนจำเลยทั้งเก้าไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share