คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ฟ้องคดีในนามของตนเองนั้น นอกจากลูกหนี้จะต้องขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว การขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนั้นจะต้องทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ด้วย ซึ่งหมายความว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่โดยไม่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องนั้นไม่พอจะชำระหนี้ หากลูกหนี้มีทรัพย์สินอยู่พอที่จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง ก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์แต่ประการใด โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 19 ตามตั๋วเงินจำนวน 58,267,483.30 บาทแต่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากมีการชำระบัญชีถึงที่สุดจำเลยที่ 19 มีความสามารถชำระหนี้เป็นเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทแสดงว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 19 มีทรัพย์สินประมาณ 500 ล้านบาทซึ่งหากโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้จำนวนดังกล่าวจริง ทรัพย์สินของจำเลยที่ 19 ก็สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ครบถ้วน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 19 ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องก็ก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233มาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 ได้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ทั้งห้าชำระค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสิบเก้า จำนวน 5,000,000 บาท เป็นการไม่ชอบ ย่อมเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหานี้ จึงเป็นการไม่ชอบ การกำหนดค่าทนายความแก่ผู้ชนะคดีเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งตามตาราง 6 ท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะโดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้นเฉพาะในศาลชั้นต้นอัตราขั้นสูงไม่เกินร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความ 5,000,000 บาท เพราะเหตุคดีมีทุนทรัพย์สูงถึง 5,857 ล้านบาทเศษ และใช้เวลาพิจารณานานเกือบ7 ปี กับเมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดกับอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว อัตราที่ศาลชั้นต้นกำหนดยังต่ำกว่าที่กฎหมายให้อำนาจอยู่มาก จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายและเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทราชาเงินทุนจำกัด ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2522 จำเลยทั้งสิบแปดร่วมกันกระทำละเมิดต่อบริษัทราชาเงินทุน จำกัดบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าต้องเสียประโยชน์ไม่ได้รับการชำระหนี้ โจทก์ทั้งห้าจึงใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ฟ้องคดีในนามของโจทก์ทั้งห้าเอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบแปดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทราชาเงินทุนจำกัด จำนวน 5,857,335,703.17 บาท
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้การว่า โจทก์ทั้งห้าไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์ฟ้องตั้งข้อหาละเมิดเป็นการส่วนตัวของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ไม่เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิแทนลูกหนี้ได้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 มิได้กระทำละเมิดต่อบริษัทราชาเงินทุนจำกัด ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม ไกลว่าเหตุและไม่มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 11 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 12 และที่ 14 ถึง 18 ให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าหนี้บริษัทราชาเงินทุนจำกัด ความจริงโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นลูกหนี้บริษัทราชาเงินทุน จำกัด อยู่จำนวน721.8 ล้านบาท ส่วนโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่มีหลักฐานว่าเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 12 และที่ 14 ถึง 18 ไม่ได้ทำละเมิดต่อบริษัทราชาเงินทุนจำกัด โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทราชาเงินทุนจำกัด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง โจทก์คำนวณตามความพอใจและเป็นการคาดหมายในอนาคตซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้
จำเลยที่ 13 ให้การว่า จำเลยที่ 13 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์จำเลยที่ 13 ไม่เคยทำให้โจทก์เสียหายเพราะไม่ได้ทำละเมิดต่อบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทราชาเงินทุน จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกบริษัทราชาเงินทุน จำกัด จำเลยที่ 19
จำเลยที่ 19 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 19 มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามฟ้อง แต่เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะใช้สิทธิเรียกร้องแทน จำเลยที่ 19
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทายาทของจำเลยที่ 2เข้ามาเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต และระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 4 และที่ 5
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้” ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในนามของตนเองเพื่อป้องกันสิทธิของตนนั้น นอกจากลูกหนี้จะต้องขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว กฎหมายยังกำหนดต่อไปว่า การขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนั้น ต้องทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ด้วย ซึ่งหมายความว่า ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่ โดยไม่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องนี้ไม่พอจะชำระหนี้ของเจ้าหนี้ เพราะหากลูกหนี้มีทรัพย์สินอยู่พอที่จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง ก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์แต่ประการใด ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 19 มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามตั๋วเงินจำนวน 58,267,483.30 บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 19 แล้ว หากมีการชำระบัญชีถึงที่สุด จำเลยที่ 19 มีความสามารถชำระหนี้เป็นเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าในขณะโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยที่ 19 มีทรัพย์สินประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งหากโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้จำนวนดังกล่าวจริง ทรัพย์สินของจำเลยที่ 19 ก็สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 ได้ครบถ้วน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 19 ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องก็หาทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ โจทก์ที่ 1จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 233 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 ได้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาต่อมาโจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ทั้งห้าร่วมกันชำระค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสิบเก้า จำนวน5,000,000 บาท เป็นการไม่ชอบ และโจทก์ที่ 1 ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้แต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาให้เป็นการไม่ชอบด้วยนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ย่อมเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวน ปัญหาว่าศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ที่ 1ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ใช่ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสิบเก้าเป็นเงิน 5,000,000 บาท ชอบหรือไม่ เห็นว่าการกำหนดค่าทนายความแก่ผู้ชนะคดีเป็นดุลพินิจของศาล คดีนี้โจทก์ฟ้องในทุนทรัพย์ถึง5,857 ล้านบาทเศษ ซึ่งตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะ โดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น เฉพาะในศาลชั้นต้นอัตราขั้นสูงไม่เกินร้อยละ 5ของทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความ 5,000,000 บาทเพราะเหตุคดีมีทุนทรัพย์สูงและใช้เวลาพิจารณานานเกือบ 7 ปีกับเมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดกับอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว อัตราที่ศาลชั้นต้นกำหนดยังต่ำกว่าที่กฎหมายให้อำนาจอยู่มากจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายและเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
พิพากษายืน

Share