แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จโดยการกระทำของผู้รับจ้างคนใหม่ ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า การที่งานก่อสร้างล่าช้าเป็นเพราะการดำเนินการของโจทก์ด้วย โจทก์จ้างผู้รับจ้างคนใหม่ทำงานงวดที่เหลือในวงเงินเท่ากับที่จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1 ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับเหตุแห่งความล่าช้าค่าจ้างก่อสร้างและระยะเวลาที่ผู้รับจ้างคนใหม่ใช้ในการก่อสร้างแล้ว เบี้ยปรับดังกล่าวสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
ตามสัญญาจ้างไม่มีการวางเงินมัดจำมีแต่หนังสือค้ำประกันความรับผิดของธนาคาร ดังนี้ เงินที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2521 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1ก่อสร้างอาคารเรียนที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ 1 หลังราคา 2,840,000 บาท กำหนดชำระเงิน 5 งวด และให้แล้วเสร็จภายใน 365 วัน หากไม่เสร็จตามสัญญา จำเลยยอมให้ปรับวันละ 4,733 บาทจนกว่าจะสร้างเสร็จ จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างอาคารงวดที่ 4 แล้วเสร็จล่วงเลยกำหนดไป 49 วัน งานงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 จะต้องทำการก่อสร้างต่อไป แต่จำเลยที่ 1 เบิกเงินค่างานงวดที่ 4 ไปจากโจทก์แล้วทิ้งงานไป โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและได้ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการ ทำการก่อสร้างงานงวดที่ 5ต่อในราคาค่าจ้าง 620,000 บาท โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการขอตัดรายการครุภัณฑ์ จำนวน 520 ชุด ราคา 1,970,600 บาท และได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2523 ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลาตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 จะต้องทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จไป 441วัน โจทก์ได้หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างที่จ่ายให้จำเลยที่ 1งานงวดที่ 4 ไว้ 49 วัน จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ค่าปรับให้โจทก์อีก 392 วัน เป็นเงิน 1,855,336 บาท และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดที่โจทก์ไม่ได้รับครุภัณฑ์ เป็นเงิน 197,600 บาท จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ผิดสัญญา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองส่งมอบงานงวดที่ 4 เลยกำหนดได้ งานงวดที่ 5 ทางโรงเรียนหล่มสักวิทยาคมไม่ยินยอมให้จำเลยทั้งสองเข้าไปทำการก่อสร้าง และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเรียกร้องให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ค้ำประกันการก่อสร้างให้ชำระเงินจำนวน 142,000 บาท ซึ่งผู้ค้ำประกันได้ชำระให้โจทก์แล้ว โจทก์ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนวุฒิชัยบริการ ทำการก่อสร้างงานงวดที่ 5 โดยตัดรายการครุภัณฑ์บางอย่างในราคาก่อสร้าง 620,000 บาทนั้น ความจริงค่าก่อสร้างเพียง 420,000 บาทโจทก์ต้องคืนเงิน 200,000 บาทให้จำเลยทั้งสอง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสอง และเมื่อโจทก์ได้เรียกเงินประกันค่าเสียหายจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน142,000 บาท ไปแล้วจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองอีก คดีโจทก์ขาดอายุความ ไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,052,930บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 26,083 บาท พร้อมดอกเบี้ยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2521 โจทก์ได้จ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก่อสร้างอาคารโรงเรียนหล่มสักวิทยาคม แบบ 318 ค.ในราคา 2,840,000 บาท กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 365 วัน โดยแบ่งการชำระเงินตามผลงานออกเป็น 5 งวด ปรากฎตามสัญญาเอกสารหมายจ. 3 จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างงานงวดที่ 4 แล้วเสร็จช้ากว่ากำหนดไป 49 วัน โจทก์ได้หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างงวดที่ 4ไปเป็นเงิน 231,917 บาท จำเลยที่ 1 ละทิ้งงานงวดที่ 5 ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2523 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญา และยึดเงินค้ำประกันจากธนาคารกรุงเทพ จำนวน 142,000 บาท วันที่ 6 พฤษภาคม 2523 โจทก์ได้เปิดประมูลงานงวดที่ 5 ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการเป็นผู้ประมูลได้แต่ขอตัดรายการครุภัณฑ์โต๊ะ ม้านั่งนักเรียกออก520 ชุด คิดเป็นเงิน 197,600 บาท และทำสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 5กันยายน 2523 กำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2523 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.17 ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 ต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28กันยายน 2522 จำเลยที่ 1 ละทิ้งงาน โจทก์ต้องจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการทำการก่อสร้างงานงวดที่ 5 งานแล้วเสร็จในวันที่13 ธันวาคม 2523 ล่าช้ากว่ากำหนดไป 441 วัน จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานงวดที่ 4 ช้ากว่ากำหนดไป 49 วัน ซึ่งโจทก์หักเงินค่าปรับจากเงินค่าจ้างที่จ่ายให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วจำเลยจึงต้องชำระค่าปรับอีก 392 วันค่าปรับวันละ 4,733 บาท รวมเป็นเงินค่าปรับ 1,855,336 บาท และโจทก์เสียหายที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการขอลดโต๊ะม้านั่งนักเรียนไป 520 ชุด เป็นเงิน 197,600 บาท รวมค่าเสียหายและค่าปรับเป็นเงิน 2,052,936 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระแก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้ตามสัญญาข้อ 5 ก. และข้อ 6 โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันจนกว่างานก่อสร้างรายนี้จะแล้วเสร็จโดยการกระทำของผู้รับจ้างคนใหม่คือห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการก็ตาม แต่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1ส่งมอบงานงวดที่ 4 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2526 เลยกำหนดในสัญญาไป 49 วัน และโจทก์ได้ปรับไปแล้ว แล้วได้ละทิ้งงานงวดที่ 5โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2523 หลังจากครบกำหนดตามสัญญาเป็นเวลาถึง 6 เดือนเศษ และเมื่อวันที่ 6พฤษภาคม 2523 ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการเป็นผู้ประมูลงานงวดที่ 5 ได้ แต่ได้เข้าทำสัญญาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2523หลังจากประมูลได้เป็นเวลาถึง 4 เดือน ส่วนระยะเวลาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการทำการก่อสร้างงานส่วนที่เหลือต่อจากจำเลยที่ 1 จนแล้วเสร็จเป็นเวลาเพียง 100 วันเท่านั้นจึงเห็นได้ว่าการที่งานก่อสร้างรายนี้เสร็จล่าช้า เป็นเพราะความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์เองด้วยส่วนหนึ่งนอกจากนี้ค่าปรับที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา383 โจทก์จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการก่อสร้างงานงวดที่ 5 ต่อในวงเงินเท่ากับที่จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างเสร็จตามสัญญา ทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้เสียหายเป็นพิเศษอย่างไรเมื่อพิเคราะห์ประกอบกับเหตุแห่งความล่าช้า ค่าจ้างก่อสร้างสำหรับงานงวดที่ 5 และระยะเวลาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการใช้ในการก่อสร้างต่อจากจำเลยจนแล้วเสร็จ ศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับที่จะพึงริบนั้นสูงเกินส่วน เห็นควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าปรับที่ทำงานล่าช้าไปเพียง 100 วัน ค่าปรับวันละ 4,733 บาทรวมเป็นเงิน 473,300 บาท…
ที่โจทก์ฎีกาว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ค้ำประกันได้ชำระเงิน142,000 บาทให้โจทก์ เป็นเงินมัดจำและโจทก์มีสิทธิริบเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ใช่ค่าเสียหายและไม่เป็นค่าปรับนั้นเห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีการวางเงินมัดจำกันแต่อย่างใด ตามสัญญาข้อ 1 มีหนังสือค้ำประกันความรับผิดของธนาคารภายในวงเงินร้อยละ 5 ของเงินค่าจ้าง คิดเป็นเงิน 142,000 บาท และตามสัญญาข้อ 3 โจทก์ผู้ว่าจ้างจะคืนเงินประกันหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้าง เงินที่โจทก์รับมาจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน 142,000 บาท จึงเป็นเงินที่ธนาคารจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ถือว่าเป็นเงินมัดจำ เงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์รับไปถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดที่งานงวดที่ 5 ล่าช้าเป็นเงิน 473,300 บาท และโจทก์ได้รับเงินค่าเสียหายไปจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน 142,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดแก่โจทก์อีกเป็นเงิน 331,300 บาท…’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 331,300บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.