คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 47/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับของจำเลยผู้เป็นนายจ้างว่าด้วยกองทุนบำเหน็จกำหนดว่า ‘พนักงาน’ หมายถึง พนักงานประจำตามอัตรากำลังขององค์การทอผ้า และ ‘อายุการทำงาน’ หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำทำงานจน ถึงวันพ้นตำแหน่ง เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้บรรจุโจทก์เป็นนักเรียนอบรมโดยได้รับเบี้ยเลี้ยงในระหว่างเป็นนักเรียนอบรมตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม2512 และโจทก์ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำรายวันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 ดังนั้นโจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานตามข้อบังคับดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 ก่อนหน้านี้โจทก์ยังมิได้เป็นพนักงานประจำของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธินำระยะเวลาระหว่างที่เป็นนักเรียนอบรมมารวมคำนวณเงินบำเหน็จได้
ในการคำนวณเงินบำเหน็จ ข้อบังคับของจำเลยมิได้กำหนดว่าค่าจ้างเดือนสุดท้ายของพนักงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างกี่วัน เพียงแต่ให้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือน หรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีของอายุการทำงานเท่านั้น จึงต้องถือจำนวนค่าจ้างที่ได้รับจริง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทำงานเดือนละ 23 วัน แม้ระเบียบใหม่ของจำเลยจะระบุให้คิดเดือนหนึ่ง 26 วัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยออกใช้บังคับสำหรับพนักงานใหม่ที่ได้รับการบรรจุตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2519 โดยเฉพาะโดยจำเลยมีสิทธิที่จะกำหนดเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสำหรับพนักงานใหม่ได้หาใช่จำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างกับโจทก์ไม่โจทก์จึงมีสิทธิคำนวณค่าจ้างรายวันโดยคิดได้เพียงจำนวน 23วันเป็นหนึ่งเดือนเท่านั้น
จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์เดือนละ 400 บาท เป็นจำนวนแน่นอน ค่าครองชีพจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานเช่นเดียวกับค่าจ้างเมื่อข้อบังคับของจำเลยไม่ได้ยกเว้นไว้โดยชัดแจ้งว่าค่าจ้างไม่รวมถึงค่าครองชีพค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จให้โจทก์ด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายบำเหน็จจำนวน 57,494 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์เป็นนักเรียนอบรมซึ่งในระหว่างอบรมโจทก์ยังไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยจำเลยได้จ้างโจทก์ทำงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2517 ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 กำหนดให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายวันประเภทที่ทำงานมีวันหยุดประจำสัปดาห์2 วันให้คิดค่าจ้าง 23 วันเป็นค่าจ้าง 1 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จเพียง 32,522 บาท ส่วนค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างที่โจทก์จะนำมาคำนวณเงินบำเหน็จ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 38,122 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ โดยต้องนำระยะเวลาในการเป็นนักเรียนอบรมมารวมคำนวณด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 3.2 กำหนดว่า”พนักงาน” หมายความว่า ผู้อำนวยการและพนักงานประจำตามอัตรากำลังขององค์การทอผ้า และ ข้อ 3.5 กำหนดว่า “อายุการทำงาน” หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำทำงานในองค์การทอผ้า และได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจนถึงวันพ้นตำแหน่ง หักด้วยระยะเวลาที่ผู้นั้นลาหรือต้องพักงานโดยมิได้รับเงินเดือนหรือค้าจ้าง สำหรับระยะเวลาที่ลาหรือต้องพักงานโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่เต็มนั้น ให้หักตามส่วนแห่งเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับไม่เต็มนั้นฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้บรรจุโจทก์เป็นนักเรียนอบรมโดยได้รับเบี้ยเลี้ยงในระหว่างเป็นนักเรียนอบรม ตามระเบียบว่าด้วยการรับนักเรียนอบรม คนงานชั่วคราวและการลาของเสมียน ช่าง คนงานข้อ 3 ตามคำสั่งองค์การทอผ้า ที่ 241/6130 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2512โดยได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 5 บาท และโจทก์ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำรายวัน ฝ่ายทอผ้า โรงงานพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2517 ตามคำสั่งองค์การทอผ้า ที่ 175/5092 ลงวันที่ 23มิถุนายน 2518 ดังนั้น โจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานตามข้อบังคับองค์การทอผ้า ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2517 ก่อนหน้านี้โจทก์ยังมิได้เป็นพนักงานประจำของจำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธินำระยะเวลาระหว่างที่เป็นนักเรียนอบรมมารวมคำนวณเงินบำเหน็จได้
ปัญหาต่อไปมีว่า ในการคำนวณเงินเดือนหรือค่าจ้างสำหรับพนักงานรายวันนั้น โจทก์มีสิทธิที่จะให้คำนวรเป็นจำนวนเดือนละ 26 วันหรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับองค์การทอผ้า ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521ข้อ 8.5 กำหนดการจ่ายเงินบำเหน็จไว้ว่า “พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันเกินกว่า 6 ปีขึ้นไป จ่ายให้มีจำนวนเท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีของอายุการทำงาน” แต่ข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดว่าค่าจ้างเดือนสุดท้ายของพนักงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันนั้น เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างกี่วัน ดังนั้น การคำนวณค่าจ้างเดือนสุดท้ายของพนักงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันเช่นโจทก์ จึงต้องถือจำนวนค่าจ้างที่ได้รับจริง ซึ่งโจทก์แถลงรับว่าโจทก์ทำงานเดือนละยี่สิบสามวัน ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามระเบียบองค์การทอผ้าว่า ด้วยการบรรจุพนักงานและการกำหนดชั้นอัตราเงินเดือนของพนักงานเข้าใหม่และการปรับอัตราพนักงานประจำรายวันเข้าในอัตรารายเดือน พ.ศ. 2519ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2519 เอกสารหมาย จ.1 ที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ให้คิดเดือนหนึ่ง 26 วันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่โจทก์ ย่อมมีผลต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่าระเบียบองค์การทอผ้าเอกสารหมาย จ.1 เป็นเรื่องที่จำเลยออกใช้บังคับสำหรับพนักงานที่ได้รับการบรรจุตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2519 เป็นต้นไปซึ่งเป็นพนักงานใหม่ของจำเลยโดยเฉพาะ โดยจำเลยมีสิทธิที่จะกำหนดเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสำหรับพนักงานใหม่ได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างกับโจทก์ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคำนวณค่าจ้างรายวันโดยคิดเพียงจำนวนยี่สิบสามวันเป็นหนึ่งเดือนเท่านั้น
สำหรับปัญหาตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยมีว่า ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณเป็นเงินบำเหน็จด้วยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าค่าครองชีพมิใช่เงินที่จำเลยจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในลักษณะค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่เป็นเงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่พนักงานผู้มีรายได้น้อย ค่าครองชีพจึงเป็นเงินประเภทอื่นตามข้อบังคับองค์การทอผ้า ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ซึ่งจะนำมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จไม่ได้ พิเคราะห์แล้ว ตามบังคับองค์การทอผ้า ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 3.4 ให้คำจำกัดความของค่าจ้างไว้ว่าหมายความว่า เงินที่องค์การทอผ้าจ่ายให้แก่พนักงานประจำเพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานประจำเป็นรายวันรวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบด้วย แต่ไม่รวมเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัส เบี้ยเลี้ยง เบี้ยกรรมการหรือประโยชน์อย่างอื่น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์เดือนละ400 บาท เป็นจำนวนแน่นอน ค่าครองชีพจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานเช่นเดียวกับค่าจ้างตามคำจำกัดความดังกล่าวเมื่อข้อบังคับของจำเลย ข้อ 3.4 ไม่ได้กำหนด ยกเว้นไว้โดยชัดแจ้งว่าค่าจ้างไม่รวมถึงค่าครองชีพ ค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จให้โจทก์ด้วย…”
พิพากษายืน

Share