คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงาน บางครั้งจะให้ ศ. พนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่าย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ลักเช็คพิพาททั้งสิบเจ็ดฉบับไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หาก ก. ตรวจสอบก็จะทราบว่าลายมือที่ต้นขั้วเช็คเป็นของ ส. ไม่ใช่ลายมือของ ศ. โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คถึงสิบเจ็ดฉบับจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากเลขที่ 623-301xxx-x ของโจทก์ที่ 1 และบัญชีเงินฝากเลขที่ 623-301xxx-x ของโจทก์ที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้ง 17 ฉบับ เป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่
ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่เป็นคดีผู้บริโภค
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนรายการเดินบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ตามบัญชีเงินฝากเลขที่ 623-301xxx-x ในส่วนที่เกี่ยวกับเช็คพิพาทหมายเลข 0431069, 0431085, 0431103, 0431166, 0431096, 0431117, 0431126, 0431131, 0431141, 0431149, 0431163 และของโจทก์ที่ 2 ตามบัญชีเงินฝากเลขที่ 623-301xxx-x ในส่วนที่เกี่ยวกับเช็คพิพาทหมายเลข 0429948, 0429944, 0429933, 0429967, 0429958, 0429949 รวม 17 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,707,975.05 บาท พร้อมเพิกถอนดอกเบี้ยที่เกี่ยวกับเช็คดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาควบคุมดูแลสมุดเช็คและตราประทับ และไม่มีมาตรการในการตรวจสอบรายการเดินบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยส่งให้แก่โจทก์ทั้งสองทราบทุกเดือน ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 800,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลย สาขาเกาะสมุย โดยมีเงื่อนไขการสั่งจ่ายให้นางกนกวรรณ หรือนายวีระศักดิ์ คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อสั่งจ่ายพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ทั้งสอง นางสาวเสาวภา ลูกจ้างของโจทก์ทั้งสองปลอมลายมือชื่อของนายวีระศักดิ์และประทับตราของโจทก์ทั้งสองในเช็ครวม 17 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินจากจำเลย จำเลยจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 17 ฉบับและหักเงินออกจากบัญชีของโจทก์ทั้งสองรวมจำนวน 1,707,975.05 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาสมุดเช็คและตราประทับ จึงเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้นางสาวเสาวภาลักเช็คและตราประทับไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ความเสียหายจึงเกิดจากโจทก์ทั้งสอง ไม่ได้เกิดจากจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า นางกนกวรรณเป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงานของนางกนกวรรณ เมื่อต้องชำระหนี้ค่าสินค้านางกนกวรรณจะเป็นผู้กรอกข้อความในเช็ค แต่บางครั้งนางกนกวรรณจะให้นางศศิธร พนักงานฝ่ายการเงินและบัญชีกรอกข้อความแล้วนำสมุดเช็คไปให้นางกนกวรรณลงลายมือชื่อ และนางสาวเสาวภาพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า พยานลักเช็คและเขียนข้อความในต้นขั้วเช็คว่า จ่ายให้บริษัทที่ขายสินค้า แล้วนำเช็คไปกรอกข้อความและถอนเงิน และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานลักสมุดเช็คและตราประทับของโจทก์ทั้งสองจากโต๊ะของนางศศิธร เห็นว่า การที่นางกนกวรรณเก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงานถือว่านางกนกวรรณได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาสมุดเช็คแล้ว แม้บางครั้งนางกนกวรรณจะให้นางศศิธรพนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่ายก็เป็นกรณีปกติของผู้ประกอบการค้าเช่นโจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อนางสาวเสาวภาหาโอกาสลักเช็คและตราประทับไปจากนางศศิธรแล้วลงข้อความปลอมในต้นขั้วเช็ค หากนางกนกวรรณตรวจสอบก็จะทราบว่า มีต้นขั้วเช็คที่มีลายมือของนางสาวเสาวภาไม่ใช่ลายมือของนางศศิธรและเป็นรายการจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์ทั้งสองประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบการสั่งจ่ายเช็คในระหว่างเกิดเหตุประมาณ 4 เดือน เป็นเหตุให้นางสาวเสาวภาสามารถลักเช็คไปได้ถึง 17 ฉบับ โจทก์ทั้งสองจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย แต่เมื่อนางสาวเสาวภากรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อในเช็คไปเบิกเงินจากจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และการจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานของจำเลยย่อมต้องมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ ทั้งต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็ค และเมื่อปรากฏตามเช็คว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คเห็นได้ชัดเจนว่าแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ทั้งสองให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คที่มีการปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายถึง 17 ฉบับทั้งที่ต้องเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์ทั้งสองให้ไว้แก่จำเลยก่อน จึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ฎีกาของจำเลยประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนรายการเดินบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสอง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสอง เป็นการพิพากษาเกินฟ้องและเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้ง 17 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ครวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ฎีกาของจำเลยประการนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share