คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5379/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกใหม่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.รถยนต์จากโจทก์ โดยจำเลยได้ชำระเงินค่าจดทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียน ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงกันให้โจทก์มีหน้าที่จดทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ หลังจากทำสัญญาแล้ว 9 เดือน โจทก์ยังไม่ไปดำเนินการจดทะเบียน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่งมอบรถยนต์บรรทุกโดยสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ได้ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 262,597.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า รถยนต์ที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องไปจดทะเบียนเอง ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งจะนำรถที่เช่าซื้อไปประกอบกิจการรับจ้างจะจดทะเบียนได้หรือไม่ก็อยู่ที่คุณสมบัติของจำเลยที่ 1 เอง โจทก์มีนายชาตรีเจ้าหน้าที่สินเชื่อของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ในการทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่บริษัทมหาชัย แมทชีนเนอรี่ แอนด์ออโต้พาร์ท จำกัด โดยพยานจะดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้ นับแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อจนถึงวันที่ยึดรถยนต์คืนรถยนต์คันพิพาทยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจดทะเบียนรถบรรทุกและเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 50,000 บาท หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วยังไม่ได้รับรถยนต์คันพิพาทไปใช้ประโยชน์ เพราะโจทก์ไม่ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้ เห็นว่า คำเบิกความของนายชาตรีเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าจดทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียน ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกันให้โจทก์มีหน้าที่จดทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ นับตั้งแต่เวลาทำสัญญากันจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเป็นเวลา 9 เดือน โจทก์ก็ยังไม่ไปจดทะเบียนรถคันดังกล่าว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จีงมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 3 ให้โจทก์ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่า นับแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ยังมิได้นำรถคันดังกล่าวออกจากบริษัทมหาชัยแมซีนเนอรี่ แอนด์ ออโต้พาร์ท จำกัด แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถให้จำเลยที่ 1 แล้วตามฎีกาของโจทก์แต่เมื่อรถยังไม่มีการจดทะเบียน จึงทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำรถไปใช้ประโยชน์ได้เพราะผิดพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ถือได้ว่าโจทก์ส่งมอบรถโดยสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ได้ จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ประกอบมาตรา 548 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้บอกเลิกสัญญาและต่อมาโจทก์ได้ยึดรถคืนโดยจำเลยที่ 1 ไม่ทักท้วงถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาเลิกกัน โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง.

Share