แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินของจำเลยได้จากการขายทอดตลาด และโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ด้วย การที่โจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทน หมายถึงการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องวางเงินชำระ ราคาค่าซื้อที่ดินในฐานะผู้ซื้อ และโจทก์มีสิทธิรับเงินจากการขายทอดตลาดที่โจทก์นำมาวางชำระค่าที่ดินในฐานะ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาที่ต้องชำระ และศาลอนุญาต โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระมาวางและโจทก์ก็ไม่ต้องรับเงินจากการขายทอดตลาดไป แต่ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อและได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้รับเงินไปแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน แม้จำเลยจะร้องคัดค้านการขายทอดตลาด โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วไม่ได้
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินก็เพื่อจะได้แบ่งเงินให้เจ้าหนี้แต่ละคน ได้รับตามส่วนโดยถูกต้อง บทบัญญัติในมาตรา 318 ถึง 322 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นแต่เพียงวิธีการที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งเมื่อจ่ายเงินไปครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว ก็ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง
โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยเพิ่ม เนื่องจากบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ของเจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณ ไม่ถูกต้อง ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้จ่ายให้โจทก์รับไปตามหนี้จำนองที่โจทก์มีอยู่เหนือที่ดินที่ขายทอดตลาดดังกล่าวครบถ้วนตามหนี้จำนองและเงินส่วนที่เหลือได้คืนให้จำเลย รับไปแล้ว เมื่อกรณียังไม่เป็นการแน่ชัดว่า เมื่อขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ยังมีหนี้เหลือ ที่โจทก์จะได้รับชำระอีกหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาเห็นควรให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดและคำนวณดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกต้อง หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกก็ให้โจทก์บังคับคดีจากที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้เท่าที่พอจะชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยพอชำระหนี้โจทก์พร้อม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ก็ให้จ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยตามสิทธิของแต่ละฝ่าย และเพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่โจทก์นำยึดเพิ่มต่อไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ ๓ รวม ๑๓ แปลง ออกขายทอดตลาด เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔ และ ๑๑๕ ได้ก่อนในราคา ๙,๖๕๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อได้และขอใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทน ต่อมาวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๓ ขายทอดตลาดที่ดินอีก ๑๑ แปลง ที่เหลือได้ในราคา ๑๓,๘๕๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ซื้อ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๓๙ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๔๘๗ ถึง ๒๐๔๘๙ แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๒ และวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๒๑๙ ถึง ๒๕๒๒๑ แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๓ เพื่อขายทอดตลาด
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องและจำเลยที่ ๓ แก้ไขคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินจำนวน ๑,๐๘๐,๐๕๕.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะ คืนเงินให้แก่จำเลยที่ ๓ ครบถ้วน
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดพิพาทเมื่อใด และจะคิดดอกเบี้ยจากเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวได้ถึงวันใด เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ของจำเลยที่ ๓ คือที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด และโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ด้วย โจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทน ศาลชั้นต้นอนุญาต การที่โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน หมายถึงการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องวางเงินชำระราคาค่าซื้อที่ดินในฐานะผู้ซื้อ และโจทก์มีสิทธิรับเงินจากการขายทอดตลาดที่โจทก์นำมาหักชำระค่าที่ดินในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาที่ต้องชำระ และศาลอนุญาตโจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระมาวางและโจทก์ก็ไม่ต้องรับเงินจากการขายทอดตลาดไปแต่ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อและได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้รับเงินไปแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน แม้จำเลยที่ ๓ จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เพราะโจทก์ไม่ต้องวางเงินชำระค่าซื้อที่ดินและเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องจ่ายเงินจากการขายทอดตลาดให้โจทก์อีก ดังนั้นเมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทนก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ในวันที่ศาลสั่งอนุญาต คือวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ แล้ว และเมื่อฟังว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จำนวนที่หักส่วนได้ใช้แทนในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ จึงคิดดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วไม่ได้
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ก็เพื่อจะได้แบ่งเงินให้เจ้าหนี้แต่ละคน ได้รับตามส่วนโดยถูกต้อง บทบัญญัติในมาตรา ๓๑๘ ถึง ๓๒๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้นเป็นแต่เพียงวิธีการที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งเมือจ่ายเงินไปครบถ้วน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวก็ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่มิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดไปจนกว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเสมอไปดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ ๓ อีก ๑๑ แปลง นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้จ่ายให้โจทก์รับไปตามหนี้จำนองที่โจทก์มีอยู่เหนือที่ดินทั้ง ๑๑ แปลง ดังกล่าวครบถ้วนตามหนี้จำนองตามบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ ๑ และเงินส่วนที่เหลือได้คืนให้จำเลยที่ ๓ รับไปแล้ว หลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำบัญชีแสดง รายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ ๒ โดยการนำรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ ๑ มารวมคำนวณด้วย กรณีจึงยังไม่เป็นการแน่ชัดว่า เมื่อขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ ๓ รวม ๑๓ แปลง ชำระหนี้โจทก์แล้ว ยังมีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้ชำระอีกหรือไม่ เพียงใด หากมีหนี้เหลือโจกท์ก็มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เพิ่มได้ แต่หากเงินที่จ่ายให้โจทก์และจำเลยที่ ๓ ไปแล้วเป็นการจ่ายไม่ถูกต้องอย่างไร ก็จะต้องดำเนินการจ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ ๓ ให้ถูกต้องต่อไป ดังนั้นเห็นควรให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดและคำนวณดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกต้อง หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกก็ให้โจทก์บังคับคดีจากที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่ยึดไว้เท่าที่พอจะชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ ๓ รวม ๑๓ แปลง พอชำระหนี้โจทก์พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในดคีและค่าธรรมเนียมในการบังคับดคีแล้ว ก็ให้จ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ ๓ ตามสิทธิของแต่ละฝ่ายและเพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทั้ง ๖ แปลงต่อไป ฎีกาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดโดยให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่หักส่วนได้ใช้แทนถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระเพิ่มอีกก็ให้บังคับจากที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่ยึดไว้เท่าที่พอชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ ๓ รวม ๑๓ แปลง พอชำระหนี้โจทก์พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีรแล้ว ก็ให้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ ๓ ตามสิทธิของแต่ละฝ่ายและให้เพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ดินของจำเลยที่ ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ .