แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบงานบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นผู้กระทำการแทนโจทก์ซึ่งเป็นจังหวัดโดยผลของกฎหมาย เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงลายมือชื่อแต่งให้ ส. อัยการผู้เชี่ยวชาญคดีแพ่ง เขต 8 เป็นทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วย่อมถือได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องแล้ว ไม่ต้องแสดงสิทธิและหน้าที่ตลอดจนวัตถุประสงค์ของโจทก์ว่ามีอำนาจและขอบเขตการใช้อำนาจอย่างไร หรือต้องแสดงเอกสารสำคัญของอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของโจทก์มาในฟ้อง
โจทก์ตระหนักดีอยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถที่จะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้อย่างแน่นอนตั้งแต่ก่อนถึงเวลาครบกำหนดการทำงานตามสัญญาว่าจ้าง การที่โจทก์ทอดเวลาบอกเลิกสัญญาเป็นเวลาถึง 277 วัน เป็นการไม่พยายามบรรเทาความเสียหายลงไปบ้าง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดไม่บอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร ทำให้จำนวนเบี้ยปรับสูงขึ้นเพราะเหตุที่โจทก์บอกเลิกสัญญาล่าช้าด้วย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์เสียหายเพียงใด ที่โจทก์คิดค่าปรับวันละ 2,607 บาท เป็นเวลา 277 วัน เป็นเงิน 722,139 บาท จึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2535 (ที่ถูก พ.ศ.2534) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ วันที่ 15 กันยายน 2541 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขุดลอกหนองน้ำป้าพิณ โครงการ พง 24029 ณ หมู่ที่ 6 ตำบลโคกเคียน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในราคาค่าจ้าง 2,607,000 บาท กำหนดให้จำเลยที่ 1 เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2541 แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดในสัญญาและโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าปรับเป็นเงินวันละ 2,607 บาท นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา ตามสัญญาจำเลยที่ 1 ได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุราษฎร์ธานีเป็นประกันไว้ 130,350 บาท โดยมีข้อตกลงว่า หากจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญา โจทก์มีสิทธิริบหลักประกันดังกล่าวได้ ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ลงมือทำงานไปเพียงเล็กน้อย ได้ผลงานร้อยละ 0.575 แล้วหยุดการทำงานพร้อมขนย้ายเครื่องจักรออกจากโครงการไป จนครบกำหนดสัญญาจำเลยที่ 1 ก็ทำงานไม่แล้วเสร็จ โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ขอสงวนสิทธิเรียกค่าปรับตามเงื่อนไขของสัญญาและเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำงาน แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างได้แล้ว จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ได้รับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2542 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับเป็นเงินวันละ 2,607 บาท นับถัดจากวันครบกำหนดในสัญญา คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จนถึงวันบอกเลิกสัญญา วันที่ 11 พฤศจิกายน 2542 รวม 277 วัน เป็นเงินค่าปรับ 722,139 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้ชำระเงินค่าปรับตามสัญญาจำนวน 130,350 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจากธนาคารแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2544 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินค่าปรับ 591,789 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าปรับ 722,139 บาท นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2543 จนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2544 เป็นเงิน 47,186 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 591,789 บาท นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2544 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 73,203.49 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ 712,178.49 บาท จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 712,178.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 591,789 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 712,178.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 591,789 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 โดยเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบงานบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นผู้กระทำการแทนโจทก์โดยผลของกฎหมาย เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาโดยนายวรสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาในขณะยื่นฟ้องคดีนี้ได้ลงลายมือชื่อแต่งให้นายสมศักดิ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญคดีแพ่ง เขต 8 เป็นทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องแล้ว หาจำต้องแสดงสิทธิและหน้าที่ตลอดจนวัตถุประสงค์ของโจทก์ว่ามีอำนาจและขอบเขตการใช้อำนาจอย่างไร หรือต้องแสดงเอกสารสำคัญของอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของโจทก์ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์เพียงใด ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.2 กำหนดให้จำเลยทั้งสองเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2541 และจะต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 แต่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือเร่งรัดตามสำเนาหนังสือ ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 เอกสารหมาย จ.5 และลงวันที่ 12 มกราคม 2542 ตามเอกสารหมาย จ.6 ให้จำเลยทั้งสองเข้าทำงานตามสัญญา โดยระบุในหนังสือว่า จำเลยทั้งสองยังไม่ได้เข้าดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญาแต่ประการใด แสดงว่าเวลาผ่านไปเกือบครบกำหนดตามสัญญาว่าจ้างแล้ว จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ลงมือทำงานให้แก่โจทก์ และโจทก์ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากที่นายเมธา เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดพังงาในขณะนั้นเบิกความว่า หลังจากที่โจทก์มีหนังสือเร่งรัดจำเลยทั้งสองไป 2 ครั้ง ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 แล้ว จำเลยทั้งสองได้ทำงานให้บ้างเล็กน้อย แต่ภายหลังได้ขนย้ายเครื่องจักรและคนงานออกจากพื้นที่การทำงานทั้งหมด จึงมีความเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจทำตามสัญญาว่าจ้างได้อย่างแน่แท้ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งขอปรับจำเลยทั้งสองตามสัญญาว่าจ้างตามสำเนาหนังสือลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2542 เอกสารหมาย จ.7 แม้ในเวลาต่อมาโจทก์จะมีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยทั้งสองกลับเข้าทำงานอีก ตามสำเนาหนังสือลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 เอกสารหมาย จ.8 และสำเนาหนังสือลงวันที่ 5 เมษายน 2542 เอกสารหมาย จ.9 อันเป็นการให้โอกาสจำเลยทั้งสองอีกครั้ง แต่ก็ปรากฏว่ามีผลงานเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเวลาที่ล่วงเลยมานานเช่นนี้ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงยินยอมเสียค่าปรับเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2542 ตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งตามบันทึกดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยทั้งสองตกลงที่จะเร่งรัดการทำงานให้แล้วเสร็จตามที่นายเมธาเบิกความถึงแต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถที่จะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้อย่างแน่นอนตั้งแต่ก่อนถึงเวลาครบกำหนดการทำงานตามสัญญาว่าจ้างเสียอีก การทอดเวลาบอกเลิกสัญญาเป็นเวลาถึง 277 วัน ต้องนับว่าโจทก์ไม่พยายามบรรเทาความเสียหายลงไปบ้าง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดไม่บอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร ทำให้จำนวนเบี้ยปรับสูงขึ้นเพราะเหตุที่โจทก์บอกเลิกสัญญาล่าช้าด้วย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์เสียหายเพียงใด เป็นต้นว่า โจทก์ต้องทำสัญญาว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ในอัตราที่สูงขึ้นหรือไม่ หรือการไม่ดำเนินการขดลอกหนองน้ำป้าพิณทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อสาธารณชนอย่างไรบ้าง เช่นนี้ ที่โจทก์คิดค่าปรับวันละ 2,607 บาท เป็นเวลา 277 วัน เป็นเงิน 722,139 บาท จึงเป็นเบี้ยที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาไม่ลดค่าปรับให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สมควรให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับแก่โจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท