คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5372/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา234และมาตรา236ไม่ได้ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแก่อีกฝ่ายศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งให้อีกฝ่ายได้เพื่อให้อีกฝ่ายได้ทราบถึงข้ออุทธรณ์ซึ่งหากมีข้อคัดค้านอย่างใดก็จะได้แก้อุทธรณ์เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลเมื่อโจทก์ทราบคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์แก่จำเลยโดยชอบแล้วแต่โจทก์ไม่ปฎิบัติตามกรณีต้องด้วยมาตรา134(2)ถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้อง

ย่อยาว

สืบเนื่องมาจากโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ชำระค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันไปแล้วฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในมูลละเมิดในฐานะโจทก์ได้รับช่วงสิทธิเป็นเงิน 40,605 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 38,688 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยต้องรับผิดในมูลละเมิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ สำเนาให้จำเลยจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาเจ้าพนักงานศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ไม่มาเสียค่าธรรมเนียมการส่ง พ้นกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลสั่งแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่ดำเนินการนำส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 5 วัน ถือว่าโจทก์ไม่ดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง
ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัย ว่า โจทก์ ไม่ ดำเนินการ นำ ส่ง สำเนา คำร้องอุทธรณ์ คำสั่ง ให้ แก่ จำเลย ภายใน กำหนด เวลา ที่ ศาลชั้นต้น กำหนดถือได้ว่า โจทก์ เพิกเฉย ไม่ดำเนินคดี ต่อไป มี คำสั่ง ให้ยก คำร้องอุทธรณ์ คำสั่ง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในกรณีนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้ต้องสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งให้จำเลยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 จะได้บัญญัติบังคับให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและฟ้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวรวมทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ที่มีความว่าถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลชั้นต้นโดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งทั้งการที่ศาลชั้นต้นสั่งดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้อีกฝ่ายได้ทราบถึงข้ออุทธรณ์ซึ่งหากมีข้อคัดค้านอย่างใดก็จะได้แก้อุทธรณ์เพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและโจทก์ได้ทราบคำสั่งโดยชอบแล้วแต่โจทก์ไม่ปฎิบัติตาม กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2)ถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”พิพากษายืน

Share