คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5367/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทราบว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โอนที่ดินให้ ท. โจทก์ย่อมมีสิทธิเลือกที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยกับ ท. หรือฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาก็ได้ การที่โจทก์เลือกใช้สิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ เมื่อจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้ ท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2539 เวลากลางวันจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 24013 ถึง 24016, 24020 ถึง 24022 และ 24024 ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง รวม 8 โฉนด ให้แก่นายแทน โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน โดยจำเลยรู้ว่าขณะนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3480/2538 ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2538 แล้ว และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยในขณะนั้นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์โดยชำระเงิน 305,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความจำนวน 3,500 บาท ด้วย คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ชั้นบังคับคดีโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยจึงทราบว่า จำเลยโอนที่ดินจำนวน 8 แปลง ให้นายแทนไปแล้ว โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2538 โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2539 จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวม 8 แปลง ให้นายแทน บุตรชายเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 24013 ถึง 24016, 24020 ถึง 24022 และ 24024 ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ต่อมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2540 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 305,625 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นอกจากได้ความจากโจทก์และนายพงษ์เทพ ทนายความของโจทก์ว่า ภายหลังจากที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 305,625 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1271/2540 แล้ว โจทก์ดำเนินการส่งคำบังคับให้แก่จำเลย เมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ นายพงษ์เทพทนายความของโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์มาชำระหนี้ให้โจทก์ จึงทราบว่าจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ให้นายแทนบุตรของจำเลยไปโดยเสน่หาแล้ว ทั้งยังได้ความจากจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าหลังจากโอนที่ดินพิพาท 8 แปลง แล้ว จำเลยไม่มีที่ดินเป็นของตนอีกแสดงว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่โจทก์สามารถยึดนำมาชำระหนี้ได้อีกแล้ว ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่า หากจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ จำเลยก็น่าจะโอนที่ดินทั้ง 8 แปลง ดังกล่าวให้บุคคลอื่นหรือขายให้บุคคลภายนอกแทนที่จะโอนให้บุคคลภายในครอบครัวและน่าจะโอนในระยะเวลากระชั้นชิดกับที่โจทก์ฟ้องคดีมิใช่ปล่อยเวลานานนับปีนั้น เห็นว่า เป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยเองไม่สามารถนำมาฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างต่อไปว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยโอนที่ดินให้บุตร โจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยกับนายแทนแต่กลับมาฟ้องเป็นคดีนี้เพื่อบีบบังคับจำเลยนั้น เห็นว่า เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกฟ้องจำเลยตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ การที่โจทก์เลือกใช้สิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ หาใช้เป็นข้อพิรุธแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวม 8 แปลง ให้นายแทนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…..”
พิพากษายืน

Share