แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ ประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ตรี วรรคแรก บัญญัติให้ถือเฉพาะราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไป เป็นรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ มิได้บัญญัติให้บวกหรือรวมค่าระวางและค่าประกันภัยเข้ากับราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศและไม่มีบทบัญญัติในมาตราอื่นของประมวลรัษฎากรบัญัติเช่นนั้น ดังนั้น ในการคำนวณรายได้ของบริษัท โจทก์ที่ส่งหมากฝรั่งไปขายให้แก่บริษัท ว. ในประเทศมาเลเซียและฮ่องกง เพื่อเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทโจทก์ จึงต้องคำนวณจากราคาตลาดของหมากฝรั่งที่โจทก์จำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น จะบวกค่าระวางและค่าประกันภัยเข้าด้วยไม่ได้
สำหรับภาษีการค้า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 1 (ก) (ง) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า เมื่อโจทก์ส่งสินค้าที่ตนประกอบการค้านั้นออกนอกราชอาณาจักรต้องถือว่าเป็นการขายสินค้า และถือว่ามูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับตามมาตรา 79 ทวิ (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 มาตรา 12 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดมูลกรณีคดีนี้ และตามมาตรา 77 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ (ฉบับที่ 19) ดังกล่าว คำว่า “มูลค่า” หมายความว่า ราคาตลาดของทรัพย์สิน ของบริการหรือของประโยชน์ใด ๆ และในกรณีที่ไม่มีราคาตลาดหมายความว่า ราคาอันผู้ประกอบการค้าพึงได้รับจากทรัพย์สินจากบริษัทหรือจากประโยชน์นั้น ๆ ฯลฯ ดังนั้น มูลค่าของหมากฝรั่งที่โจทก์ส่งไปขายให้แก่บริษัท ว. ในประเทศมาเลเซียและฮ่องกงอันจะถือเป็นรายรับในการคำนวณให้โจทก์เสียภาษีการค้า จึงต้องถือตามราคาตลาดของหมากฝรั่งที่โจทก์จำหน่ายในประเทศไทยโดยไม่บวกค่าระวางขนส่งและค่าประกันภัยเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยประเมินภาษีโดยคิดราคาขายหมากฝรั่งที่โจทก์ส่งไปขายต่างประเทศตามราคาตลาดในประเทศบวกด้วยค่าขนส่งและค่าประกันภัย เป็นการไม่ชอบเพราะราคาหมากฝรั่งที่ส่งไปขายต่างประเทศนั้นขายตามราคาตลาดโลก จึงขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้อง โดยให้ถือว่าโจทก์มีรายได้หรือรายรับจากการจำหน่ายหมากฝรั่งให้แก่บริษัทวอเนอร์ แลมเบิท จำกัด ประเทศมาเลเซียและฮ่องกง ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ และ ๒๕๑๑ ในอัตราราคาหมากฝรั่งที่โจทก์ขายให้แก่บริษัทดีทแฮล์ม จำกัด ในประเทศไทย ในพ.ศ. ๒๕๑๐, ๒๕๑๑ ตามลำดับ (ไม่รวมค่าระวางและค่าประกันภัย)
โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาฝ่ายเดียว
ศาลวินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๐ ตรี วรรคแรก บัญญัติว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่หรือตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่ สาขาบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ฯลฯ ให้ถือว่า การที่ได้ส่งสินค้าไปนั้นเป็นการขายในประเทศไทยด้วย และให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งไปนั้น” จึงเห็นได้ว่าในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลส่งสินค้าออกไปต่างประเทศดังกล่าว ประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๐ ตรี วรรคแรก บัญญัติให้ถือเฉพาะราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ มิได้บัญญัติให้บวกหรือรวมค่าระวางและค่าประกันภัยเข้ากับราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ และไม่มีบทบัญญัติในมาตราอื่นของประมวลรัษฎากรบัญญัติเช่นนั้น ดังนั้น ในการคำนวณรายได้ของบริษัทโจทก์ที่ส่งหมากฝรั่งไปขายให้แก่บริษัทวอร์เนอร์ แลมเบิท จำกัด ในประเทศมาเลเซีย และฮ่องกง เพื่อเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทโจทก์ จึงต้องคำนวณจากราคาตลาดของหมากฝรั่งที่โจทก์จำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น จะบวกค่าระวางและค่าประกันภัยเข้าไปด้วยไม่ได้
สำหรับภาษีการค้านั้น โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า ๑ (ก) (ง) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า เมื่อโจทก์ส่งสินค้าที่ตนประกอบการค้านั้นออกนอกราชอาณาจักร ต้องถือว่าเป็นขายสินค้า และถือว่ามูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับตามมาตรา ๗๙ ทวิ (๒) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๑๒ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดมูลกรณีคดีนี้ และตามมาตรา ๗๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๖ คำว่า “มูลค่า” หมายความว่า “ราคาตลาดของทรัพย์สิน ของบริการหรือของประโยชน์ใด ๆ และในกรณีที่ไม่มีราคาตลาด หมายความว่า ราคาอันผู้ประกอบการค้า พึงได้รับจากทรัพย์สินจากบริการหรือจากประโยชน์นั้น ๆ ฯลฯ” ดังนั้นมูลค่าของหมากฝรั่งที่โจทก์ส่งไปขายให้แก่บริษัทวอร์เนอร์ แลมเบิท จำกัด ในประเทศมาเลเซียและฮ่องกงอันจะถือเป็นรายรับในการคำนวณให้โจทก์เสียภาษีการค้า จึงต้องถือตามราคาตลาดของหมากฝรั่งที่โจทก์จำหน่ายในประเทศไทย โดยไม่บวกค่าระวางขนส่งและค่าประกันภัยเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน