แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ผู้ร้องจะเป็นบิดาของจำเลยซึ่งเป็นผู้เยาว์และอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันขณะผู้ร้องไม่อยู่บ้านจะเก็บกุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ในตู้โดยไม่มีที่ล็อกแต่ได้ความว่าผู้ร้องเคยอนุญาตให้จำเลยใช้รถแต่ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และยังเคยตักเตือนจำเลยว่าอย่าขับรถเร็วและอย่าประมาท ประกอบกับจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปใช้กระทำความผิดขณะที่ผู้ร้องไปเฝ้ามารดาที่ป่วยที่โรงพยาบาล พฤติการณ์จึงไม่มีข้อส่อแสดงว่าผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยนำรถของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่จำเลยต้องการโดยไม่คำนึงว่าจำเลยจะนำรถไปใช้ในกิจการใดอันจะถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดในลักษณะที่เป็นการเสี่ยงภัยต่อร่างกายและชีวิตของจำเลย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(8), 160 วรรคสาม และริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน สงขลา 8 ก – 6167 ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนสงขลา 8 ก – 6167 ของกลาง และผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้สั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลางและผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนสงขลา 8 ก – 6167 ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะเป็นบิดาของจำเลยซึ่งเป็นผู้เยาว์และอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกัน ขณะผู้ร้องไม่อยู่บ้านจะเก็บกุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ในตู้โดยไม่มีที่ล็อก แต่ก็ได้ความตามคำเบิกความของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเคยอนุญาตให้จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางแต่ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และผู้ร้องเคยตักเตือนจำเลยว่าอย่าขับรถเร็วและอย่าประมาท ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดในขณะที่ผู้ร้องไปเฝ้ามารดาที่ป่วยที่โรงพยาบาล พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีข้อส่อแสดงว่าผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่จำเลยต้องการใช้โดยไม่คำนึงว่าจำเลยผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในอำนาจปกครองของตนจะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในกิจการใด อันจะถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดในลักษณะที่เป็นการเสี่ยงภัยต่อร่างกายและชีวิตของจำเลย เช่นนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางย่อมมีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน