คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินค่าตรวจรักษาที่โจทก์จ่ายให้แก่แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์มีลักษณะเป็นเงินที่ผู้เข้ารับการรักษาจ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษา โดยแพทย์ใช้สถานที่ของสถานพยาบาลของโจทก์ โดยไม่มีวันและเวลาทำงานปกติ และโจทก์รับเงินดังกล่าวไว้แทนแล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่งตามสัญญาการให้ใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระ จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างได้ทำสำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงาน เงินค่าตรวจรักษาจึงมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มและเมื่อเงินค่าตรวจรักษามิใช่ค่าจ้างแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับแพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์ในส่วนของเงินค่าตรวจรักษาจึงมิใช่ผู้ที่รับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างและมิใช่ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ดำเนินกิจการโรงพยาบาลรัชดา-ท่าพระ และได้ทำประกันสังคมให้แก่พนักงานมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2545 โจทก์ได้รับหนังสือจากจำเลยลงเลขที่ รส 0705/3685 ให้จ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมในปี 2543 โดยคำนวณจากเงินเดือนพนักงานและเงินค่าแพทย์ โจทก์ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ถึงคณะกรรมการอุทธรณ์จำเลย แต่ได้รับคำตอบยืนยันตามคำสั่งเดิม โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเนื่องจากเห็นว่าแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลของโจทก์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ส่วนใหญ่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐบาลและเป็นข้าราชการซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันสังคม และในส่วนที่มิได้เป็นข้าราชการก็มิได้เป็นลูกจ้างโจทก์เนื่องจากแพทย์เป็นผู้กำหนดเวลาตรวจเองว่าจะสะดวกมาตรวจเมื่อใด และหากมีธุระก็สามารถหยุดได้โดยไม่ถือว่าเป็นวันลา และการทำงานไม่มีการลงเวลาทำงานดังเช่นลูกจ้างทั่วไป มีการทำสัญญาการให้ใช้สถานที่โรงพยาบาลในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในลักษณะที่มิใช่ลูกจ้างกับนายจ้าง แพทย์ไม่มีเงินเดืนอแต่จะได้รับเฉพาะค่าตรวจจากผู้ป่วยแล้วหักให้โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ แพทย์สามารถหยุดออกตรวจหรือโจทก์สามารถระงับการออกตรวจของแพทย์ได้โดยแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า 1 สัปดาห์ และโจทก์ไม่สามารถบังคับบัญชาให้คุณให้โทษแก่แพทย์ได้ สำหรับพนักงานนอกเวลาของโจทก์มี 3 ประเภท คือ 1. พนักงานประจำจากโรงพยาบาลเอกชนอื่น เมื่อมีเวลาว่างจะมาทำงานกับโจทก์เพื่อเสริมรายได้ ในขณะที่ต้องทำประกันสังคมกับที่ทำงานประจำของตนอยู่แล้ว และมีรายได้เกิน 15,000 บาท จึงจ่ายเบี้ยประกันสังคมสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อชี้แจงไปยังจำเลยกลับได้รับคำตอบว่าต้องจ่ายเพิ่มอีกแล้วให้ผู้ประกันตนไปขอคืนภายหลัง เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและไม่มีเหตุผล นอกจากนี้จำเลยยังแจ้งว่าขอคืนได้เฉพาะผู้ประกันตนส่วนของนายจ้างขอคืนไม่ได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยเอาเปรียบฝ่ายนายจ้างอย่างชัดเจนโดยไม่มีกฎหมายข้อใดเขียนให้ปฏิบัติเช่นนี้ 2. เป็นข้าราชการของโรงพยาบาลรัฐบาล ผู้ที่เป็นข้าราชการกฎหมายยกเว้นไม่ต้องทำประกันสังคมเพราะมีสวัสดิการของรัฐอยู่แล้ว 3. ผู้ที่รับจ้างเป็นครั้งคราวไม่มีเงินเดือนประจำซึ่งมีงานก็รับจ้างทำ ถ้าไม่มีก็ไม่มาทำ ลูกจ้างประเภทนี้ควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันสังคมตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ศ.2534 มาตรา 3 (4) ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและยกเลิกคำสั่งตามหนังสือที่ รส 0705/3685 ลงวันที่ 26 กันยายน 2545 และหนังสือเลขที่ รง 0605/4476
จำเลยให้การว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่าแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลไม่เป็นลูกจ้างของโจทก์เนื่องจากเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระและได้ทำสัญญาการให้ใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระกับโรงพยาบาล จึงไม่เป็นผู้ประกันตนซึ่งจะต้องจ่ายเงินสมทบตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 นั้น ไม่อาจรับฟังได้เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนชื่อสถานพยาบาลรัชดา-ท่าพระ (โรงพยาบาลรัชดา-ท่าพระ) โดยมีผู้ร่วมงานในโรงพยาบาลเป็นกลุ่มแพทย์ซึ่งทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาล แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระก็เป็นการทำงานให้แก่โรงพยาบาลหรือโจทก์ ทั้งนี้เพราะการให้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเป็นกิจการของโจทก์ จึงเห็นว่าเมื่อการตรวจรักษาผู้ป่วยที่มารับบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเป็นการทำงานของแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลและรับค่าจ้างจากโรงพยาบาล แพทย์จึงเป็นลูกจ้างของโจทก์ตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ประกอบกับเป็นการจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะนายจ้างจึงมีหน้าที่หักค่าจ้างของแพทย์เป็นเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคม พร้อมเงินสมทบส่วนของนายจ้างด้วย คำสั่งของกองตรวจสอบและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและยกเลิกคำสั่งตามหนังสือที่ รส 0705/3685 ลงวันที่ 26 กันยายน 2545 และหนังสือเลขที่ รง 0605/4476 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2545 เฉพาะในส่วนที่วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมในส่วนของค่าแพทย์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลคลตามกฎหมายประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจด้านสถานพยาบาลชื่อสถานพยาบาลรัชดา-ท่าพระ ตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อเดือนกันยายน 2545 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มเติมจำนวน 277,394 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 โดยอ้างว่าเงินที่จะต้องจ่ายเพิ่มเป็นเงินสมทบในส่วนที่โจทก์แจ้งค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างจริง และต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2545 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์จะต้องชำระเงินสมทบเพิ่มเติมจำนวน 181,182 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 โดยอ้างว่าโจทก์ไม่นำส่งค่าแพทย์เวรและลูกจ้างนอกเวลา ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นการยกเลิกผลการตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับหนังสือของจำเลยทั้งสองฉบับเพราะเห็นว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมตามหนังสือดังกล่าวจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำวินิจฉัยที่ 528/2546 เอกสารหมาย จ.5 โดยอ้างว่าคำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 ถูกต้องแล้ว แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการทำงานของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 เหมือนกันพนักงานอื่น การทำงานของแพทย์จะได้รับค่าตรวจตามจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงกับโจทก์ไว้ และการมาทำงานของแพทย์ไม่ต้องลงเวลาทำงาน จะมาทำงานตามที่แพทย์สะดวกซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดเวลามาทำงานเองและสามารถหยุดงานได้โดยแจ้งให้สถานพยาบาลทราบล่วงหน้า แต่หากไม่มาปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ถือว่ามีความผิดและในการทำงานให้แก่สถานพยาบาลของโจทก์มีการทำสัญญาการให้ใช้สถานที่ระหว่างโจทก์กับแพทย์แต่ละคนด้วย ตามเอกสารหมาย จ.7 ค่ารักษาพยาบาลที่จะเรียกจากผู้เข้ารับการรักษาแพทย์ผู้ตรวจจะเป็นผู้กำหนดเองว่าจะเรียกจำนวนเท่าใด และมีผู้เข้ารับการรักษาบางรายที่แพทย์ไม่คิดค่าตรวจรักษา ตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 เงินค่าตรวจรักษาที่เรียกเก็บจากผู้เข้ารับการรักษาโจทก์จะเป็นผู้เก็บรักษาไว้และจะมอบให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาภายในวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสามข้อสรุปได้ว่า กลุ่มแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลซึ่งเป็นกิจการของโจทก์แม้จะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานเหมือนเช่นพนักงานอื่นของโจทก์ แต่ได้ใช้สถานที่และเครื่องมือของโจทก์ในการให้บริการทางการแพทย์ จึงเป็นการตกลงทำงานให้โจทก์ การที่แพทย์ไม่สามารถคิดค่าตรวจเกินอัตราขั้นสูงที่โจทก์กำหนดนั้นเป็นสภาพการบังคับบัญชา ส่วนเงินค่าตอบแทนโจทก์จะเก็บค่าตรวจรักษาไว้แล้วจ่ายให้เป็นรายเดือนถือเป็นค่าจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับแพทย์ที่ทำงานให้โจทก์จึงเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โจทก์จึงมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเพิ่มในส่วนของค่าแพทย์นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง และ “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร คำว่า ค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัตินี้จึงมีสาระสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก ค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน ประการที่สอง เงินที่จ่ายดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และประการที่สาม ให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานด้วย ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเหมือนกับพนักงานอื่น ไม่ต้องลงเวลาทำงาน จะมาทำงานตามที่แพทย์สะดวกซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดเอง สามารถหยุดงานได้โดยไม่ต้องแจ้งให้สถานพยาบาลทราบล่วงหน้า หากไม่มาปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ถือว่ามีความผิด การทำงานของแพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์จึงไม่มีวันและเวลาทำงานปกติ อีกทั้งเงินค่าตรวจรักษาที่เรียกเก็บจากผู้เข้ารับการรักษา แพทย์ผู้ตรวจจะเป็นผู้กำหนดเองว่าเรียกจำนวนเท่าใด โจทก์จะเป็นผู้เก็บรักษาไว้โดยแพทย์จะได้รับค่าตรวจตามจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงกับโจทก์ และโจทก์จะมอบให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาภายในวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 ของเดือนถัดไป เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์ได้รับจากผู้เข้ารับการรักษาโดยใช้สถานพยาบาลของโจทก์เป็นที่ตรวจรักษาตามสัญญาการให้ใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระ เอกสารหมาย จ.7 ดังนั้น แม้เงินค่าตรวจรักษาจะเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานตามหลักเกณฑ์ประการแรก แต่เงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินที่ผู้เข้ารับการรักษาจ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษา โดยแพทย์ใช้สถานที่ของสถานพยาบาลของโจทก์ โดยไม่มีวันและเวลาทำงานปกติ และโจทก์รับเงินดังกล่าวไว้แทน แล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่งตามสัญญาการให้ใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระเอกสารหมาย จ.7 เป็นเงินที่แพทย์ได้รับมาจากการประกอบวิชาชีพอิสระ จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างได้ทำสำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานตามหลักเกณฑ์ประการที่สอง และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานตามหลักเกณฑ์ประการที่สาม เงินค่าตรวจรักษาจึงมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มแต่อย่างใด และเมื่อเงินค่าตรวจรักษามิใช่ค่าจ้างแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับแพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์ในส่วนของเงินค่าตรวจรักษาจึงมิใช่ผู้ที่รับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างและมิใช่ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยเฉพาะในส่วนที่วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมในส่วนของค่าแพทย์นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share