คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5340/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงของคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไว้อย่างชัดแจ้งว่า ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาศาลต้อง ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติประการใดแล้ว จึงจะให้คดีส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามนั้นได้ คดีนี้คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีส่วนอาญายังมิได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติเพียงพอที่จะถือมาเป็นข้อวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งได้ แต่โจทก์จำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยานและขอให้ศาลฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในคดีอาญาศาลจึงนำเอาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบในคดีอาญามาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้เพื่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังที่คู่ความแถลงรับกันได้โดยไม่ถือตามผลในคดีอาญา แต่วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีอาญา วันเกิดเหตุคือวันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน2531 จำเลยใช้รถแทรกเตอร์และรถแบคโฮ เข้าไปไถขุดที่พิพาทถือว่าจำเลยเข้าไปแย่งการครอบครองที่พิพาทนับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 13 มกราคม 2532 จึงยังไม่เกินระยะเวลา1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ขาดสิทธิฟ้องร้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามแผนที่ท้ายคำฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามากระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินดังกล่าวให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 15,640 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 13,000 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้เงินโจทก์เดือนละ 1,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะหยุดกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จำเลยได้ครอบครองที่พิพาททั้งแปลงโดยสงบเปิดเผย โจทก์ไม่เคยโต้แย้งการครอบครองของจำเลย และโจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนดขอให้ยกฟ้องโจทก์
ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงร่วมกันว่า ค่าเสียหายของโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท กับไม่ติดใจสืบพยาน และขอให้ศาลฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในคดีอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ที่พิพาทภายในเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารทำการใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครอง และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 10,000 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายเลขดำที่ 130/2532 หมายเลขแดงที่ 897/2533 ของศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานเพื่อรอฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเพื่อพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งต่อมาคดีส่วนอาญาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่า โจทก์ จำเลย ต่างฝ่ายต่างนำสืบว่าที่พิพาทเป็นของตนอันเป็นการโต้เถียงการครอบครองในที่พิพาทกันอยู่ว่าผู้ใดเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทซึ่งควรจะได้ดำเนินการกันในทางแพ่งต่อไป การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาในการกระทำผิดในทางอาญาพิพากษายกฟ้อง ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน โดยขอให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในคดีอาญา ศาลชั้นต้นเห็นว่าศาลฎีกามิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาทและโจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ตามประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไม่สืบพยาน จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาท พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3เห็นว่าการที่คู่ความต่างแถลงไม่สืบพยานนั้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานที่นำสืบกันมาแล้วในสำนวนคดีอาญา ให้ศาลนำมาวินิจฉัยคดีโดยไม่ติดใจสืบพยานใด ๆ เพิ่มเติมในคดีนี้อีก ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและบังคับได้ตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนคดีส่วนอาญาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท พิพากษากลับให้โจทก์ชนะคดี
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยมิได้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 หรือไม่นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” ตามบทบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติเกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงของคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไว้อย่างชัดแจ้งว่า ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติการใดแล้ว จึงจะให้คดีส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามนั้นได้ สำหรับคดีนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีส่วนอาญายังมิได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติเพียงพอที่จะถือมาเป็นข้อวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แต่เมื่อโจทก์จำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน และขอให้ศาลฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในคดีอาญาดังนี้ศาลจึงนำเอาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบในคดีอาญามาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้เพื่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังที่คู่ความแถลงรับกันได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีโดยไม่ถือตามผลในคดีอาญา แต่วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีอาญาจึงชอบแล้ว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่พิพาทภายในเขตเส้นสีแดงเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา ตามแผนที่พิพาท จำเลยกับพวกใช้รถแทรกเตอร์และรถแบคโฮเข้าไปไถขุด และค่าเสียหายของโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันและสมเหตุผล ไม่มีข้อให้ระแวงว่าจะกลั่นแกล้งจำเลยให้ได้รับความเสียหายและพยานโจทก์ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสอดคล้องต่างกันมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ดีกว่าพยานโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในระยะเวลา 1 ปีหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า วันเกิดเหตุคือวันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2531 จำเลยใช้รถแทรกเตอร์และรถแบคโฮเข้าไปไถขุดที่พิพาท จึงถือว่า จำเลยเข้าไปแย่งการครอบครองที่พิพาทนับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 13 มกราคม2532 จึงยังไม่เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ขาดสิทธิฟ้องร้อง
พิพากษายืน

Share