คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลไต่สวนแล้วสั่งไม่อนุญาต จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งนี้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยมีโอกาสจะโต้แย้งได้ จำเลยย่อมหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์ขอยื่นคำให้การอีก เพราะคำสั่งนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนคำสั่งปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นแล้วคำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินจากจำเลย จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนดศาลจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตามที่โจทก์ขอ ก่อนวันสืบพยานจำเลยยื่นคำร้องว่า มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ให้ยกคำร้องของจำเลย จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งนี้ไว้
เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ และตัวจำเลยแล้วพิพากษาให้ขับไล่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ และประเด็นอื่น ๆ
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อขาดนัด โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาและจำเลยมิได้โต้แย้งไว้
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องนี้ โดยเห็นว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ ส่วนประเด็นข้ออื่นพิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้โดยไม่จำต้องคัดค้านไว้อีกและฎีกาในประเด็นข้ออื่นด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การนั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อศาลได้มีคำสั่งนี้แล้ว อีกเกือบหนึ่งเดือนศาลจึงพิพากษา ในระหว่างนั้นจำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้แต่มิได้โต้แย้งไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในข้อนี้ได้และเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๖
พิพากษายืน

Share