คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5334/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายโดยยึดถือจำนวนเนื้อที่เป็นสำคัญปรากฏภายหลังว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อจากจำเลยได้รวมเอาที่ดินสาธารณะไว้ด้วยบางส่วน ทำให้เนื้อที่ดินขาดหายไป เมื่อโจทก์ไปขอเงินค่าที่ดินคืนจากจำเลย จำเลยไม่ยอมคืนเงินให้ เช่นนี้ย่อมมีเหตุที่จะทำให้โจทก์เข้าใจได้ว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยเอาที่สาธารณะมาขายให้ แม้พฤติการณ์จะยังไม่ปรากฏชัดแจ้งก็ตาม การที่โจทก์พูดขู่จำเลยว่าหากไม่คืนเงินจะฟ้องให้จำเลยติดคุกติดตะราง จำเลยจึงยอมลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับจะใช้เงินที่ขาดคืนแก่โจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หาใช่การข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะไม่ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินจากจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ท้ายฟ้อง ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ขาดไป จำเลยจึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน ๖๘,๗๕๐ บาท ครั้นถึงกำหนดชำระเงินตามสัญญา จำเลยไม่ยอมชำระเงินให้โจทก์ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ๖๘,๗๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีจากเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ได้ขายที่ดินให้โจทก์โดยตกลงซื้อขายเหมากันตามแนวเขตที่ดินที่โจทก์ต้องการ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในการที่เนื้อที่ดินขาดไป จำเลยอายุมากแล้ว ลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้เพราะถูกข่มขู่จนถึงขนาดเกิดความเกรงกลัวความเสียหายและภัยถึงตน ย่อมเป็นโมฆะ จำเลยขอบอกล้างในคำให้การนี้
โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลชั้นต้นจึงสั่งงดสืบพยานโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ และแม้สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นโดยจำเลยถูกโจทก์ข่มขู่ก็เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม สัญญาจึงไม่เสียไป จำเลยต้องรับผิด พิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน ๖๘,๗๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินบางส่วนของจำเลย ต่อมาเมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดสอบเขต ปรากฏว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อจากจำเลยมีบางส่วนล้ำเข้าไปในที่สาธารณะทำให้เนื้อที่ดินที่โจทก์ซื้อขาดไป โจทก์จึงขอเงินค่าที่ดินส่วนที่ขาดไปคืนจากจำเลย จำเลยไม่ยอมให้โจทก์กับพวกจึงกล่าวหาว่าจำเลยหลอกเอาที่สาธารณะมาขายให้และพูดว่าถ้าไม่คืนเงินจะฟ้องให้จำเลยติดคุก จำเลยจึงยอมลงลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์เขียนขึ้นโดยยอมรับจะใช้เงินที่ขาดไปคืนให้โจทก์ คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องมีผลบังคับกันได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าได้ความจากจำเลยเองว่า ในชั้นแรกโจทก์ขอแบ่งซื้อที่ดินเพียง ๑ ไร่ แต่ต่อมาโจทก์ขุดคูล้อมรอบที่ดินที่ซื้อเกินเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ก็ยอมชดใช้ค่าที่ดินส่วนที่เกินไปให้จำเลยจนครบถ้วนแสดงว่าได้มีการตกลงซื้อขายที่ดินโดยยึดถือจำนวนเนื้อที่เป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อปรากฏในภายหลังว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อจากจำเลยได้รวมเอาที่ดินสาธารณะไว้ด้วยบางส่วน ทำให้เนื้อที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ต้องขาดไป และเมื่อโจทก์ไปขอเงินค่าที่ดินส่วนที่ขาดไปคืนจากจำเลย หากจำเลยมีความบริสุทธิ์ใจก็น่าจะคืนเงินให้โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ยอมคืนเงินให้ เช่นนี้ย่อมมีเหตุที่จะทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยเอาที่สาธารณะมาขายให้ แม้พฤติการณ์ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่กรณีก็อาจเป็นดังที่โจทก์เข้าใจ การที่โจทก์กับพวกพูดขู่จำเลยว่าหากไม่คืนเงินจะฟ้องให้จำเลยติดคุกติดตะรางจึงเป็นกรณีที่โจทก์ทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมหาใช่การข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะไม่ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลบังคับได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share