แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้การกู้ยืมเงินและหนี้สินอื่นซึ่งจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่ต่อโจทก์ทั้งในเวลาที่ทำสัญญาและต่อไปในภายหน้า จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกันด้วยทรัพย์คือ จำนอง สัญญาประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จะยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงหลักประกันอย่างไรก็ได้
โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงระงับจำนอง (ปลดจำนอง) ระบุไว้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้ที่ดินที่จำนองไว้พ้นจากการจำนองไปเพื่อนำไปยื่นขอรับใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ดังนั้น ภาระหนี้สินที่จำเลยที่ 2 มีต่อโจทก์จึงยังคงมีอยู่ตามเดิมตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกัน โดยข้อตกลงแม้จะเป็นการปลดจำนอง ก็มีผลเพียงแต่ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองเป็นประกันได้เท่านั้น แต่ภาระหนี้ในการประกันจำเลยที่ 2 และที่ 1 ยังคงมีอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันชำระหนี้ให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้นำโฉนดที่ดิน ตำบลตลาดบางเขน (ดอนเมือง) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร มาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้การกู้ยืมเงินและหนี้อื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 31,500,856.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 25,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 31,500,856.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 25,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าวแทนจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 163110 ตำบลตลาดบางเขน (ดอนเมือง) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่ต่อโจทก์ในวงเงิน 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามสัญญาจำนองและหนังสือต่อท้ายเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 1 ได้ขอวงเงินสินเชื่อกับโจทก์ในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน และได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและชำระหนี้ให้โจทก์แล้วหลายฉบับ จนเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.39 จำนวนเงิน 25,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ หากผิดนัดยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2537 โจทก์ได้ทำหนังสือปลดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 163110 ให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงกับโจทก์ว่า ภาระหนี้ที่จำเลยที่ 2 มีต่อโจทก์ยังคงมีอยู่ตามเดิมตามประกาศและบันทึกเอกสารหมาย จ.41 และ จ.42 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าข้อตกลงตามสำเนาบันทึกข้อตกลงระงับจำนอง (ปลดจำนอง) เอกสารหมาย จ.42 ที่โจทก์ปลดจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แต่ภาระหนี้ที่จำเลยที่ 2 มีต่อโจทก์ยังคงมีอยู่ต่อไปหรือไม่ และจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.6 และหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 ระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้การกู้ยืมเงินและหนี้สินอื่นตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ซึ่งจำเลยที่ 2 และ/หรือ จำเลยที่ 1มีอยู่ต่อโจทก์ทั้งในเวลาที่ทำสัญญาและต่อไปในภายหน้าเป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกันด้วยทรัพย์คือ จำนองสัญญาประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่จะยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงหลักประกัน อย่างไรก็ได้ การที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกข้อตกลงระงับจำนอง (ปลดจำนอง) ลงวันที่ 9 มีนาคม 2537 ตามเอกสารหมาย จ.42 นั้น ในข้อ 1 ก็ระบุไว้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้ที่ดินที่จำนองไว้พ้นจากการจำนองไปเพื่อนำไปยื่นขอรับใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อ 12 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286/2515 (ซึ่งผู้ขออนุญาตต้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ )ทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ดังนั้น ภาระหนี้สินที่จำเลยที่ 2 มีต่อโจทก์จึงยังคงมีอยู่ตามเดิม จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่า ตามเอกสารหมาย จ.42 มีข้อความว่า ถึงแม้จะระงับจำนองไปแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ผู้จำนองก็ยังมีภาระหนี้สินที่จะต้องชำระต่อโจทก์อยู่ตามเดิม ดังนี้จึงเห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีเจตนาเพียงต้องการนำที่ดินที่ติดจำนองไปยื่นขอรับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเท่านั้น เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286/2515 กำหนดให้ผู้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินต้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ จำเลยที่ 2 จึงต้องบันทึกข้อตกลงระงับจำนอง (ปลดจำนอง) เอกสารหมาย จ.42 ไว้แก่โจทก์ โดยมีข้อความยืนยันว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ดังนั้น ภาระหนี้สินที่จำเลยที่ 2 มีต่อโจทก์จึงยังคงมีอยู่ตามเดิม ซึ่งภาระหนี้สินที่จำเลยที่ 2 มีอยู่ต่อโจทก์นั้นย่อมหมายถึง ภาระหนี้สินที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 นั่นเอง ข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.42 นี้ แม้จะเป็นการปลดจำนอง ก็มีผลเพียงแต่ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ได้เท่านั้น แต่ภาระหนี้สินในการประกันจำเลยที่ 2 และที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 นั้น ยังคงมีอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น