คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5326/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกให้แก่โจทก์แลกเปลี่ยนกับเช็คที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม 3,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมไปจากโจทก์ และโจทก์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมเงินโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมไว้ ดังนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องร้องบังคับคดีได้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น…ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด…” และ ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้ในขณะจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็ค บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” หนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีจำนวนเกินกว่าห้าสิบบาท เมื่อไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไว้เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์อยู่จริง แต่หนี้นั้นก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2537 จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 3,000,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวอีกหลายฉบับเปลี่ยนเช็คฉบับเดิมคืนไป ต่อมาจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ลงวันที่ 6 เมษายน 2541 สั่งจ่ายเงิน 3,000,000 บาท เปลี่ยนเช็คชำระต้นเงินฉบับก่อนหน้านั้นคืนไป เมื่อเช็คดังกล่าว ถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) สาขาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2542 สั่งจ่ายเงิน 3,000,000 บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อเปลี่ยนเช็ค เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 หรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกให้แก่โจทก์แลกเปลี่ยนกับเช็คที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม 3,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมไปจากโจทก์ และได้ความจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กู้ยืมเงินโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมไว้ ดังนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องร้องบังคับคดีได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น…ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด…” และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้ในขณะจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็ค บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” หนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีจำนวนเกินกว่าห้าสิบบาท เมื่อไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไว้เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์อยู่จริง แต่หนี้นั้นก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share