คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5326/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีมติเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ยินยอมรับไว้แล้ว โจทก์ฟ้องอ้างว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบว่าด้วยพนักงานและลูกจ้างของจำเลยฯ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 และระเบียบว่าด้วยพนักงานของจำเลยฯ ซึ่งการฟ้องคดีเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเรียกเงินบำเหน็จดังกล่าวนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์จะต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดและเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกทั้งสองจำนวนไม่ใช่เงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 123 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,858,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31โจทก์ไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก่อนฟ้องคดี โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ซื้อข้าวเปลือกจากโรงสีสินทวีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอนุกรรมการซื้อข้าวขายข้าวของจำเลยและให้สินเชื่อแก่บริษัทมีเดียออฟมีเดีย จำกัด เกินอำนาจของโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากจำเลย อันเป็นการขัดคำสั่งหรือระเบียบของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ได้ยกการที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย เหตุสงสัยในความสุจริตมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์และมิได้ยกเรื่องวินัยมาใช้ในการเลิกจ้าง โจทก์ให้จำเลยหักค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าลบกับหนี้ค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์แล้ว จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขบังคับก่อนในการจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ครบถ้วนแล้วจำเลยต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตอบแทนโดยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 4 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 529,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้นจำนวนดังกล่าวคำนวณตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2542 ไปจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยมีมติเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ซึ่งโจทก์ยินยอมรับไว้แล้วโดยมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานภายใน 30 วัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะยินยอมรับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยแล้ว แต่โจทก์ยังฟ้องอ้างว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบว่าด้วยพนักงานและลูกจ้างของจำเลย พ.ศ. 2524 ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 และระเบียบว่าด้วยพนักงานของจำเลย พ.ศ. 2524 ซึ่งการฟ้องคดีเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเรียกเงินบำเหน็จดังกล่าวนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์จะต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดและเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกทั้งสองจำนวนไม่ใช่เงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share