คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5324/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้คดีไว้ในคำให้การแต่เพียงว่า โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันเกินกว่าระยะเวลา 10 ปี ไม่ได้ แต่เหตุที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาเพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดเป็นเรื่องที่ว่าหนี้ของลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมพ้นความรับผิดไปด้วยเป็นคนละเรื่องกับที่ให้การไว้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่โจทก์จะมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ได้หรือไม่ ต้องพิจารณาเพียงว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้วหรือไม่เท่านั้น เมื่อลูกหนี้ผิดนัดแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้แม้ขณะนั้นอายุความที่จะฟ้องลูกหนี้ยังสะดุดหยุดอยู่ก็ตาม แม้ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ คดีที่ลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย ยังไม่มีการยกเลิกการล้มละลาย และยังไม่ได้มีการเฉลี่ยทรัพย์รายได้เป็นครั้งที่สุด อายุความที่จะฟ้องลูกหนี้ยังคงสะดุดหยุดอยู่ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และมาตรา 167ที่กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ศาลฎีกาแก้ไขได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานโลหะภัณฑ์การช่างไว้กับโจทก์ โดยไม่จำกัดจำนวนเงินและผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังทำสัญญาห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานโลหะภัณฑ์การช่างนำเช็คมาแลกเงินไปจากโจทก์รวม 4 ฉบับโจทก์นำเรียกเก็บเงินแล้ว ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 229,200 บาท ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานโลหะภัณฑ์การช่างกับนายอำภาเพ็ชรงาม ผู้จัดการห้างนี้ซึ่งในคดีล้มละลายดังกล่าวโจทก์นำหนี้จำนวน 229,200 บาท ไปขอพิสูจน์หนี้และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์รับชำระหนี้นั้นได้ ขอให้จำเลยร่วมกันชำระเงิน 643,189.12 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 229,200 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะตามสัญญาค้ำประกันการแลกเช็คลงวันที่ 23 ธันวาคม 2518 นับถึงวันฟ้องมีระยะเวลา 12 ปี 3 เดือน แต่อายุความฟ้องคดีเรื่องค้ำประกันมีอายุความเพียง 10 ปี นอกจากนั้นโจทก์รู้ถึงวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับสุดท้ายไม่เกินสิ้นเดือนกุมภาพันธ์2519 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันแต่โจทก์ก็ไม่ได้เรียกร้อง พ้นเวลา 10 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 229,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2ชำระเงิน 229,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องให้ลูกหนี้ชำระเงินภายใน 1 ปี นับแต่วันสั่งจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ มูลหนี้ตามสัญญาเช็คทั้งสี่ฉบับจึงขาดอายุความ เมื่อหนี้อันเป็นประธานขาดอายุความ จำเลยที่ 1ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมพ้นจากความรับผิดไปด้วยโดยไม่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลายของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานโลหะภัณฑ์การช่างหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้คดีไว้ในคำให้การแต่เพียงว่า โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันเกินกว่าระยะเวลา 10 ปีไม่ได้แต่เหตุตามที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดเป็นเรื่องที่ว่าหนี้ของลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมพ้นความรับผิดไปด้วย เป็นคนละเรื่องกับที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีไว้ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า แม้หากจะฟังตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อายุความฟ้องคดีของโจทก์สะดุดหยุดลงเป็นผลมาจากการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2520แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าจะเริ่มนับอายุความใหม่เมื่อใด และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178 วรรคแรกเดิมระบุว่าในการพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลายนั้นอายุความสะดุดหยุดอยู่จนกว่าจะยกเลิกการล้มละลายหรือจนกว่าเฉลี่ยทรัพย์รายได้เป็นครั้งที่สุด แต่ในการพิจารณาคดีนี้ไม่ปรากฏว่าคดีล้มละลายดังกล่าวจะมีการยกเลิกการล้มละลายหรือมีการเฉลี่ยทรัพย์รายได้เป็นครั้งที่สุดหรือไม่ ดังนั้น หากว่าอายุความที่สะดุดหยุดลงนั้นได้หยุดอยู่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ก็ยังไม่เกิดขึ้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์จะมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้เป็นคดีนี้ได้หรือไม่ ก็พิจารณาเพียงว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้วหรือไม่เท่านั้น เมื่อลูกหนี้ผิดนัดแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ได้ แม้ขณะนั้นอายุความที่จะฟ้องลูกหนี้ยังสะดุดหยุดอยู่ก็ตาม การมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ยังไม่สิ้นสุดลงนั้น เป็นเพียงทำให้ยังไม่เริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นผลกลับทำให้โจทก์มีระยะเวลาที่จะฟ้องลูกหนี้เป็นเวลายาวนานกว่าปกติ มิใช่ว่าจะทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในขณะที่อายุความสะดุดหยุดอยู่ตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2521 ทำให้เหตุที่อายุความสะดุดหยุดอยู่สิ้นสุดลง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ในวันถัดไปคือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2521 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่23 กุมภาพันธ์ 2531 พ้นเวลา 10 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า แม้ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์รับชำระหนี้ได้ดังกล่าวแต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการเฉลี่ยทรัพย์รายได้เป็นครั้งที่สุดนอกจากนั้นยังฟังได้จากคำเบิกความของนางสาวกาญจนา พงศ์พิสุทธ์วณิชพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายดังกล่าวว่าในวันที่พยานเบิกความ (วันที่ 29 พฤศจิกายน 2531) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้ จึงยังไม่ได้แบ่งเงินให้กับใคร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้คดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานโลหะภัณฑ์การช่างลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย ยังไม่มีการยกเลิกการล้มละลายและยังไม่ได้มีการเฉลี่ยทรัพย์รายได้เป็นครั้งที่สุด อายุความที่จะฟ้องลูกหนี้ยังคงสะดุดหยุดอยู่ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และมาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นพับ

Share