คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

องค์การค้าคุรุสภาไม่ใช่องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้นและไม่ใช่หน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าขององค์การค้าคุรุสภาจึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติ พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ.2534มาตรา4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488มีหน้าที่ควบคุมดูแลและสอดส่องเกี่ยวกับเรื่องจัดการศึกษาและพิทักษ์สิทธิครู และตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้โจทก์มีรายได้จากเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุน และจัดตั้งองค์การหาผลประโยชน์ โจทก์จึงได้จัดตั้งองค์การค้าคุรุสภาขึ้นเพื่อดำเนินกิจการจัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแบบเรียน และอุปกรณ์การศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ปัจจุบันองค์การค้าคุรุสภามีลูกจ้างประมาณ 2,000 คน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีผลทำให้นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมร่วมกับรัฐบาล เพื่อเป็นประกันและสวัสดิการในการทำงานแก่ลูกจ้างฝ่ายละร้อยละ 1.5 ของอัตราค่าจ้างของผู้ประกันตน ซึ่งโจทก์และลูกจ้างของโจทก์ทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม โดยต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนตามอัตราที่กำหนดไว้ และตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 55 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างได้จัดสวัสดิการเกี่ยวกับกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือกรณีทุพพลภาพ หรือกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน หรือกรณีคลอดบุตร หรือกรณีสงเคราะห์บุตร หรือกรณีชราภาพ ก่อนวันที่พระราชบัญญัติ นี้ใช้บังคับ ถ้าสวัสดิการนั้นมีกรณีใดที่จ่ายในอัตราสูงกว่าประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายจ้างนำระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งกำหนดสวัสดิการที่ว่านั้นมาแสดงต่อคณะกรรมการเพื่อขอลดส่วนอัตราเงินสมทบในประเภทประโยชน์ทดแทนที่นายจ้างได้จัดสวัสดิการให้แล้วจากอัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างต้องจ่ายเข้ากองทุนตามมาตรา 46 และให้นายจ้างใช้อัตราเงินสมทบที่เหลือภายหลังคิดส่วนลดดังกล่าวแล้วมาคำนวณเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน และเงินสมทบในส่วนของนายจ้างที่ยังมีหน้าที่ต้องส่งเข้ากองทุนเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนในส่วนอื่นต่อไป” ซึ่งตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จเงินทำขวัญ และเงินช่วยเหลือในการทำศพของเจ้าหน้าที่คุรุสภาพ.ศ. 2503 กำหนดไว้ในหมวด 3 เรื่อง เงินช่วยเหลือในการทำศพว่ากรณีเจ้าหน้าที่คุรุสภาถึงแก่กรรม ให้จ่ายเงินช่วยเหลือในการทำศพดังนี้ จ่ายค่าจ้างในเดือนถึงแก่กรรมเต็มเดือน จ่ายเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างเต็มสองเดือนและจ่ายเงินช่วยเหลือจัดการศพอีก3,000 บาท ซึ่งสูงกว่าประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โจทก์จึงมีสิทธิขอลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ในอัตราร้อยละ 0.06 องค์การค้าคุรุสภาได้ขอลดส่วนอัตราเงินสมทบ จำเลยไม่ยอม โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยมีคำสั่งลดอัตราเงินสมทบในกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานอัตราร้อยละ 0.06ของอัตราค่าจ้างของผู้ประกันตนให้แก่โจทก์และลูกจ้างของโจทก์ศาลฎีกาพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 205/2535 จำเลยจึงมีคำสั่งที่ 253/2535 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2535 ลดส่วนอัตราเงินสมทบกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงานอัตราร้อยละ 0.06 ให้แก่องค์การค้าคุรุสภา และลูกจ้างขององค์การค้าคุรุสภา ในคำสั่งดังกล่าวจำเลยมีคำสั่งต่อไปอีกว่า เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4(6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2534ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2534 ทำให้องค์การค้าคุรุสภาเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มีผลทำให้ลูกจ้างขององค์การค้าคุรุสภาไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 อีกต่อไป องค์การค้าของคุรุสภาจึงไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2534เป็นต้นไป องค์การค้าคุรุสภาไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากการจัดตั้งและการดำเนินกิจการขององค์การค้าคุรุสภาไม่ได้ใช้เงินของทางราชการ ไม่ได้งบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินและรัฐไม่ได้มีทุนรวมอยู่ด้วย รายได้จากการดำเนินกิจการก็ไม่ต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดิน การดำเนินกิจการไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางราชการ องค์การค้าคุรุสภาได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยแล้วคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของจำเลย ขอให้พิพากษาว่าองค์การค้าคุรุสภาไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายให้จำเลยยกเลิกคำสั่งที่ว่า องค์การค้าของคุรุสภาเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย และให้จำเลยยอมให้องค์การค้าของคุรุสภาและลูกจ้างส่งเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคม
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นสภาในกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 เป็นกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น จึงเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ลูกจ้างขององค์การค้าของคุรุสภาจึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และตามพระราชบัญญัติ ครู พ.ศ. 2488 มาตรา 5(1) บัญญัติว่า คุรุสภาอาจมีรายได้จากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน แม้โจทก์จะไม่เคยได้รับเงินอุดหนุนก็ตาม ก็ไม่ทำให้สถานะของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป คำสั่งของจำเลยที่ว่าองค์การค้าของคุรุสภาเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้นชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า องค์การค้าของคุรุสภาจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2493 ตามมติของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเพื่อหาผลประโยชน์เป็นรายได้แก่โจทก์ โจทก์เป็นเจ้าขององค์การค้าคุรุสภาองค์การค้าคุรุสภาไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่จำเลยมีคำสั่่งว่าองค์การค้าคุรุสภาเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้นไม่ชอบพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 253/2525 (ที่ถูก253/2535) ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2535 เฉพาะส่วนที่ว่าองค์การค้าเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4(6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533พ.ศ. 2534 ไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไป ให้จำเลยยอมให้องค์การค้าของคุรุสภาและลูกจ้างส่งเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมต่อไป
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า องค์การค้าของคุรุสภาเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติ พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า องค์การค้าของคุรุสภาจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2493 ตามมติของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภามิใช่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลพ.ศ. 2496 ที่มีผลใช้บังคับภายหลังจากที่มีการจัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาแล้ว และจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488มาตรา 4, 6 ได้ความว่าคุรุสภาซึ่งเป็นเจ้าขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกระทรวงศึกษาธิการ คุรุสภามีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการจัดการศึกษาโดยทั่วไป ปกครองดูแลและคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ประกอบอาชีพครูโดยเฉพาะเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลหรือดำเนินการใด ๆ แก่ประชาชนโดยทั่วไป ทั้งตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มาตรา 26 ก็ไม่ได้บัญญัติให้คุรุสภาเป็นส่วนราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ถือไม่ได้ว่าคุรุสภาซึ่งเป็นเจ้าขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นรัฐ จึงเห็นว่า องค์การค้าของคุรุสภาไม่ใช่องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้นและไม่ใช่หน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ องค์การค้าของคุรุสภาจึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share